ทานอย่างไรไม่ให้ “กรน”

           คุณเป็นคนหนึ่งไหม? ที่นอนกรนเสียงดัง แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเสียงดังแค่ไหน แต่รับรองได้เลยว่าคนที่นอนข้าง ๆ มีสะดุ้งแน่นอน แม้อาการนอนกรน จะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีหลายวิธีที่ช่วยป้องกันหรือลดอาการนอนกรน และช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้นได้

สาเหตุของการนอน “กรน”

           เสียงกรน (Snoring) เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนบนตีบและแคบลง เมื่อช่องทางเดินหายใจมันแคบลง เวลาเราหายใจเอาอากาศเข้ามา ลมที่ผ่านช่องที่มันแคบนี้ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อดังกล่าวเกิดการกระพือ เมื่อกล้ามเนื้อกระพือหรือสั่นสะเทือน ก็จะทำให้เกิดเป็นเสียงกรนได้นั่นเอง
           นอกจากนี้ อาการนอนกรน ยังเกิดจากการบีบกั้นของระบบทางเดินหายใจ และมีการยกตัวของกล้ามเนื้อภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น ลิ้น, ลิ้นไก่, เพดานอ่อน, คอ หรืออาจเกิดจากสารหล่อลื่นในระบบทางเดินหายใจลดลง ทำให้เกิดอาการคอแห้งและบวม จนทำให้ทางเดินหายใจแคบลง โดยส่วนใหญ่ผู้ชาย มีอัตราการนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนอ้วน, ผู้สูงวัย, ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือโพรงจมูกอักเสบ ผู้ที่ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป นอกจากนี้ ยังพบว่าการดื่มสุรา, สูบบุหรี่จัด, กินยานอนหลับ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการกรนได้

ทานอย่างไรไม่ให้ “กรน”

          ปัญหาการนอนกรน ส่วนหนึ่งเกิดจากการทาน เรามาดูกันว่าอาหารแบบไหนควรกิน หรืออาหารแบบไหนควรหลีกเลี่ยง

  • ไม่ควรทานอาหารก่อนนอนมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารหนักในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนนอน ถ้าเป็นไปได้ ควรกินอาหารเบา ๆ จำพวกซุปร้อน ๆ เช่น ซุปมิโซะ, ซุปฟักทอง, ซุปข้าวโพด หรือกล้วยน้ำว้าสักลูก
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม โดยทั่วไปแล้วสมองจะสั่งให้ร่างกายตื่นตัว แต่ถ้าหากสมองและร่างกายถูกกดไว้ด้วยแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้สมองตื่นตัวช้า ส่งผลให้สมองขาดออกชิเจน หรือรุนแรงถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้

สมุนไพรลดอาการ “กรน”

          สำหรับใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจขาดความชุ่มชื้น และกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง จนทำให้เกิดปัญหานอนกรน เรามีเทคนิคการใช้สมุนไพรในครัว เพื่อช่วยลดปัญหาการกรนมาฝาก ซึ่งเป็นสมุนไพรช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ทางเดินหายใจ อีกทั้งไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายด้วย

  • หัวหอมเล็กแก่จัด นอกจากจะมีสรรพคุณแก้หวัด, คัดจมูก, ลดไขมันอุดตันในหลอดเลือดแล้ว กลิ่นฉุนของหัวหอมเล็ก ยังช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในลำคอ และช่วยระบบทางเดินหายใจให้ทำงานได้ดีขึ้น จะนำมาสูดดมหรือใช้ประกอบอาหารก็ได้
  • พริกขี้หนู รสเผ็ดของพริกจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และเกิดความชุ่มชื้นในลำคอ สารแคปไซซิน ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบหลอดลมได้
  • ขิง ใช้เหง้าขิงแก่สด ขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือประมาณ 50 กรัม ทุบให้แตก ต้มกับน้ำในปริมาณตามใจชอบ ดื่มเฉพาะน้ำขิง แค่นี้ก็จะช่วยให้เราสดชื่น ระบบทางเดินหายใจทำงานสะดวกขึ้น
  • ใบแมงลัก มีฤทธิ์แก้หวัด และหลอดลมอักเสบ นำใบไปประกอบอาหาร จะช่วยให้ระบบทางเดินหายใจทำงานดีขึ้น

          แล้วอย่าลืมนำวิธีต่าง ๆ ที่แนะนำนี้ ไปลองใช้ดู ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร อย่าลืมถามคนนอนข้าง ๆ นะคะ

 

 

References:

  • โสภาพรรณ.  (2554).  กินดี ให้มีชัยชนะ.  กรุงเทพฯ: แสงดาว
  • ศรีสุภา ส่งแสงขจร.  (2552).  รักษาก่อนหาหมอ.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์สุขภาพ
  • วรวัฒน์ สุวรรณรักษ์.  (2560).  นอนกรนเกิดจากอะไร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565, จาก https://bit.ly/3wEqZIj

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general