พ่อแม่มือใหม่ไม่ควรพลาดกับ “เงินสงเคราะห์บุตร” ปี 2566

การมีลูกสักหนึ่งคนนั้นแน่นอนว่าสิ่งที่พ่อแม่มือใหม่หลาย ๆ คนคงต้องเตรียมตัวก็คือภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่จะต้องเลี้ยงดูบุตรจนเติบโตสามารถทำงานช่วยเหลือตนเองได้ แต่สำหรับภาครัฐเองนั้นก็ได้มองว่าการที่พลเมืองมีบุตรขึ้นมาเด็กคนนั้นก็คืออนาคตของชาติคนหนึ่ง ที่จะเติบโตนำกำลังความรู้ ความสามารถมาพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป

ซึ่งในปี 2566 นี้ทางรัฐบาลจึงสานต่อโครงการ “เงินสงเคราะห์บุตร” ที่ดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องโดยสำหรับเงื่อนไขในปี 2566 นี้ หากพ่อแม่มือใหม่ต้องการรับเงินสงเคราะห์บุตร มีเงื่อนไขแบบไหน และสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างไร วิชาการ จะพาไปดูรายละเอียดกัน

“เงินสงเคราะห์บุตร” คืออะไร ?

เป็นเงินสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนเงินสงเคราะห์บุตร ของประกันสังคมมาตรา 33 (ลูกจ้างหรือพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป) และมาตรา 39 ซึ่งทางรัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรในอัตรา 800 บาท ต่อเดือน ต่อบุตร 1 คน คราวละไม่เกิน 3 คน และจะโอนเข้าบัญชีผู้ประกันตนทุก ๆ สิ้นเดือน แต่หากตรงกับวันหยุด หรือเสาร์-อาทิตย์ ก็จะทำโอนเข้าบัญชีให้ล่วงหน้าก่อน ไม่เกินเที่ยงคืน

เงื่อนไขการจ่าย “เงินสงเคราะห์บุตร” เป็นอย่างไร ?

  • บิดาหรือมารดาต้องเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 หรือมาตรา 39
  • จ่ายเงินสมทบมาในระบบประกันสังคมมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
  • ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
  • จะได้รับเงินอุดหนุนบุตรจนบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
  • จะได้รับเงินอุดหนุนบุตรคราวละไม่เกิน 3 คน

หมายเหตุ หากผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

สมัครขอรับ “เงินสงเคราะห์บุตร” ได้อย่างไร ?

  1. ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม สปส.2-01 (แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม) นำมายื่นลงทะเบียนเงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคมที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่
    • หากบิดาเป็นผู้ยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรให้เตรียมสำเนาทะเบียนสมรสและสูติบัตรบุตร จำนวน 1 ชุด
    • หากมารดาเป็นผู้ขอรับเงินสงเคราะห์บุตรให้ใช้เพียงเอกสารสำเนาสูติบัตรบุตร จำนวน 1 ชุด
  2. หากเปลี่ยนชื่อ-ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อด้วย จำนวน 1 ชุด
  3. ให้เตรียมหน้าสมุดบัญชีธนาคารที่จะขอรับเงินสงเคราะห์บุตรไปด้วย โดยชื่อในหน้าสมุดบัญชีจะต้องตรงกับชื่อผู้ยื่นคำขอเงินสงเคราะห์บุตร จำนวน 1 ฉบับ โดยมีธนาคารที่สามารถใช้รับเงินได้ดังนี้
    • ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
    • ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
    • นาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
    • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
    • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)
  4. หลังจากเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว และนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ทางเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอนุมัติต่อไป
  5. ทางสำนักงานประกันสังคมจะมีหนังสือแจ้งผลการอนุมัติ
  6. การรับเงินสงเคราะห์บุตรจะถูกโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนไว้ทุกต้นเดือนต่อไป

 

Reference:

  • สำนักงานประกันสังคม.  (2564).  สิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566, จาก http://bit.ly/3KvwpfY

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general