ยุค VUCA คืออะไร และมีวิธีรับมืออย่างไร ในยุคปัจจุบัน

       

          หลาย ๆ คนคงผ่านตากับคำว่า VUCA แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ วันนี้ วิชาการ จะขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ VUCA ให้มากขึ้นและสำรวจวิธีการรับมือกับสถานการณ์ VUCA


ยุค VUCA คืออะไร?

          VUCA ย่อมาจาก Volatility – ความผันผวน, Uncertainty – ความไม่แน่นอน, Complexity – ความซับซ้อน และ Ambiguity – ความคลุมเครือ ซึ่งเป็นชุดคำศัพท์ที่ใช้อธิบายสถานการณ์โลกโดยรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ การเมือง การใช้ VUCA ช่วยอธิบายสถานการณ์ช่วยให้ผู้นำประเทศ ผู้นำทางการทหาร นักการเมือง นักวิชาการ รวมทั้งบริษัทต่าง ๆ สามารถวางนโยบายหรือกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ VUCAได้ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล (Digitalization) ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ส่งผลให้ผู้นำในระดับต่าง ๆ ต้องปรับตัว

          นอกจากนี้สถานการณ์ในไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น การระบาดของโควิด-19, สถานการณ์สงครามยุโรป,ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความผันผวนของตลาดคริปโต สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงยุค VUCA ในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเรารู้แล้วว่า สถานการณ์เหล่านี้มีความ ความผันผวน, ความไม่แน่นอน, ความซับซ้อน, และ ความคลุมเครือ แล้วเราจะรับมือกับมันได้อย่างไร


สำคัญต่อเราอย่างไร?


          Nate Bennett และ G. James Lemoine ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์ได้อธิบาย VUCA ในแต่ละส่วนแถมยังบอกถึงการรับมือไว้ในนิติยสาร Harvard Business Review 2014

  • Complexity – ความซับซ้อน
    • ลักษณะสำคัญ: บ่งบอกถึงสถานการณ์ที่มีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ซึ่งบางปัจจัยสามารถคาดเดาได้ แต่ปริมาณของข้อมูลเกี่ยวข้องมีจำนวนมากซึ่งทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์เป็นไปได้ยาก
    • ตัวอย่าง: ทำธุรกิจในหลายประเทศ แม้จะขายสินค้าประเภทเดียวกันแต่กฎหมายในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
    • วิธีแก้ไข: ปรับโครงสร้าง หรือหาผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน รวมถึงเสริมสร้างทรัพยากรที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
  • Volatility – ความผันผวน
    • ลักษณะสำคัญ: เป็นสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยยังไม่ทราบว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติเมื่อใด แต่เป็นสถานการณ์ที่เข้าใจได้ไม่ยากจนเกินไป และมีข้อมูลเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา
    • ตัวอย่าง: ราคาของสินค้าที่ขึ้นและลง หลังจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือภัยสงคราม
    • วิธีแก้ไข: เตรียมความพร้อมเชิงทรัพยากรรวมถึงทรัพยากรบุคคล เพื่อรองรับการขึ้นความผันผวนด้านต่าง ๆ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ฉะนั้นการบริหารความเสี่ยงจึงจำเป็นต้องทำควบคู่กับการเพิ่มทรัพยากรดังกล่าว
  • Uncertainty – ความไม่แน่นอน
    • ลักษณะสำคัญ: ข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับสถานการณ์ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวเป็นที่แน่ชัด และสถานการณ์ดังกล่วาสามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่จำเป็นต้องศึกษาและวางกลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา
    • ตัวอย่าง: บริษัทคู่แข่งประกาศจะลงสินค้าตัวใหม่ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อบริษัทเราและเกิดความไม่แน่นอนในตลาด
    • วิธีแก้ไข: ลงทุนในการหาข้อมูลเพิ่มเติม, ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดลึกซึ้ง, และกระจายข้อมูลให้ทั่วถึงในองค์กร ทั้งนี้ การเพิ่ม framework ในการวิเคราะห์ข้อมูลภายในองค์กรก็จะส่งเสริมให้ความไม่แน่นอนที่กำลังเผชิญอยู่ลดลง
  • Ambiguity – ความคลุมเครือ
    • ลักษณะสำคัญ: เป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจหาความสัมพันธ์ระหว่างต้นเหตุและผลลัพธ์ได้ อีกทั้งปัจจัยเกี่ยวข้องอื่น ๆ ก็ไม่มีความกระจ่างชัด
    • ตัวอย่าง: บริษัทตัดสินใจที่จะขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ (หรือในประเทศกำลังพัฒนา) หรือ บริษัทเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ต่างออกไปจากธุรกิจหลัก
    • วิธีแก้ไข: การแก้ไขความคลุมเครือของสถานการณ์สามารถทำได้ผ่านการทดลอง โดยการตั้งสมมุติฐานและทำการทดสอบสมมติฐานดังกล่าว ซึ่งการทดลองดังกล่าวอาจจะเป็นขนาดเล็กและขยายผลลัพธ์ เพื่อให้เข้าต้นเหตุและผลลัพธ์ของสถานการณ์

Reference:

  • VUCA-WORLD.  (2565).  LEADERSHIP SKILL & STRATEGIES – VUCA WORLD.  สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3UyK9b8
  • NewsReporter.  (2565).  ยุค VUCA World คืออะไร มีวิธีการรับมืออย่างไร?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3F4J19l
  • Nate Bennett & G. James Lemoine.  (2557).  What VUCA Really Means for You.  สืบค้นเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3iE9ByG

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general