อาการแมวท้อง เป็นอย่างไร สังเกตยังไงดี?

          หลายครั้งที่ทาสแมวอยากจะเลี้ยงลูกแมวน้อย ๆ จนปล่อยให้แมวผสม แต่หลังจากนั้นล่ะ? เราจะรู้ได้ยังไงว่าแมวท้อง? หรือแค่อ้วนขึ้น? นี่คือปัญหาของทาสแมวมือใหม่ที่หลายคนยังไม่รู้ว่าต้องสังเกตแมวยังไง แมวมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างไร?
          การเป็นสัด หรือติดสัด (Proestrus-Estrus) เป็นระยะที่แมวต้องการผสมพันธุ์ และเป็นช่วงที่มีการตกไข่ โดยวงรอบของการเป็นสัดจะอยู่ที่ประมาณ 2- 19 วัน (เฉลี่ย 7 วัน) ปกติแล้วแมวสามารถเป็นสัด ได้ตั้งแต่อายุ 4 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ รวมถึงฤดูกาล (Seasonally Polyestrous) นั้น ๆ เพราะแสงเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน แต่สภาพอากาศในบ้านเราจะอบอุ่นถึงร้อน ดังนั้นในช่วงเดือนเมษายนถึงกันยายน แมวก็จะเริ่มเป็นสัดและมีการหลั่งสาร เพื่อดึงดูดเพศผู้ให้มาผสมพันธุ์

วิธีการสังเกตพฤติกรรมแมวที่เข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์

  1. อยากอาหารมากขึ้น ทานอาหารเยอะขึ้น
  2. อยากออกไปนอกบ้าน มักชอบส่งเสียงร้องหง่าว ๆ บ่อย ๆ เพื่อดึงดูดเพศผู้เข้าหา
  3. มีอาการกระสับกระส่าย พักผ่อนน้อยลง
  4. ปัสสาวะบ่อย เพื่อกระจายกลิ่นหรือฟีโรโมน (Pheromones) ของตัวเอง
  5. อวัยวะเพศบวม หรือมีน้ำใส ๆ เคลือบอยู่
  6. มักคลอเคลีย กลิ้งเกลือก หรือถูกับสิ่งของ เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน หรือเจ้าของมากกว่าปกติ ม้วนตัวไปมา มักยกก้นโด่งขึ้น เหวี่ยงหางไปด้านข้าง

อาการที่บ่งบอกว่าแมวกำลังตั้งท้อง

          โดยปกติแล้วแมวจะตั้งท้องสัปดาห์ที่ 2 และเริ่มแสดงอาการตั้งท้องในสัปดาห์ที่ 3 ถึง 4 โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าแมวกำลังท้องมี 6 ข้อ ได้แก่

  1. เต้านมจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นสีชมพู มีของเหลวไหลออกมา เนื่องจากเต้านมเริ่มผลิตน้ำนม แต่อย่างไรก็ตามภาวะนี้อาจจะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มติดสัดได้เช่นกัน
  2. ทานอาหารมากขึ้น ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-7 แมวจะทานอาหารเยอะขึ้น เพื่อสะสมสารอาหารให้ตัวเล็กในท้อง จนถึงช่วงใกล้คลอดแมวจะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่ยอมทานอะไร
  3. ขนาดลำตัวเปลี่ยนแปลง ท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น หลังของแมวจะโก้งโค้ง ขามีขนาดใหญ่ขึ้น
  4. น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น
  5. นอนบ่อยขึ้น แมวจะมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา
  6. สร้างรังเตรียมคลอด แมวจะหามุมหลบ เงียบสงบ เช่น ใต้โต๊ะ, มุมห้อง, ในกล่อง เพื่อใช้สร้างพื้นที่สำหรับคลอดลูก

วิธีดูแลแม่แมวตั้งท้อง 

  1. พบสัตวแพทย์เพื่อตรวจอายุครรภ์ ตรวจสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายแม่แมว
  2. ให้อาหารแม่แมวตามหลักโภชนาการ เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมถึงอาหารเสริมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกแมว
  3. ควรตรวจ Ultra Sound ตั้งแต่ 21 วัน ขึ้นไป สามารถตรวจนับจำนวนลูกแมวในท้องได้
  4. ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนคลอด ต้องคอยสังเกตอาการของแม่แมวอย่างใกล้ชิด
  5. จัดเตรียมวัสดุทำคลอด ได้แก่ ตะกร้าหรือกล่องวางไว้ในจุดที่เงียบ ใช้ผ้าขนหนูรองทับ, แอลกอฮอล์, ทิชชูเปียก รวมถึงเตรียมอาหาร และน้ำไว้ใกล้ ๆ ที่คลอด

ควรหมั่นปรึกษาสัตวแพทย์ เรื่องการดูแลคุณแม่แมวให้ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่แมวและลูกน้อยในท้องนะคะ เพราะสำหรับทาสแมวอย่างเรา ๆ แล้ว น้องแมวเป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยงเลยก็ว่าได้

 


Reference:

  • Bolttech.  (2564).  6 อาการแมวท้อง สังเกตได้ง่ายมาก.  สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3k5QXgo
  • Petsocietythailand.  (2565).  วิธีดูว่าแมวตั้งท้องหรือไม่ แนวทางการดูแลแมวท้องในแต่ละช่วงเวลา.  สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3Mntnbd
  • WikiHow.  (2565).  วิธีการดูว่าแมวตั้งท้องหรือยัง.  สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3EE09lN


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general