เทคนิคป้องกันโควิด จาก ผู้ทำงานใกล้ชิดโควิด

          เราอาจจะมีความกังวลอยู่ไม่น้อย และมีความเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง เกี่ยวกับบุคลากรการแพทย์หรือผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด ว่าอาจจะมีการติดเชื้อ แพร่เชื้อ หรือสัมผัสเชื้อสูง ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม โดยหลักการแพทย์แล้ว บุคลากรทางการแพทย์จะมีวิธีการป้องกันตัวเองสูงมาก และเป็นไปตามมาตรฐานสากล เนื่องจากการป้องกันแต่ละครั้งจะพลาดไม่ได้เลย เพราะถ้าพลาดย่อมส่งผลต่อการทำงาน และการรักษาของผู้ป่วยทั้งที่เป็นโควิดและไม่เป็นโควิด แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงใด ๆ มาก็ตาม เราจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันการติดเชื้อและสุขอนามัยที่ดี

          แม้บุคลากรทางการแพทย์ จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโควิด เพราะอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้ป่วยเป็นประจำ และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อตลอดเวลา เราเองก็มีความกังวลไม่น้อย เวลาที่ต้องอยู่ใกล้หรือคลุกคลีกับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ และเราจะมีการป้องกันและดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อต้องใกล้ชิดหรือเข้าไปสัมผัสกับสถานที่เสี่ยงหรือกลุ่มเสี่ยงนี้ แน่นอนว่าการป้องกันตัวเองจากผู้ใกล้ชิดที่ทำงานเกี่ยวกับโควิด นั้นไม่ได้แตกต่างจากการป้องกันตัวเองโดยทั่ว ๆ ไป เพราะมาตรการหรือขั้นตอนต่าง ๆ นั้นเหมือนกันคือ

การเตรียมตัวเมื่อออกไปข้างนอก

  1. เตรียมหน้ากากอนามัย จะเป็นแบบผ้า หรือเป็นแบบทางการแพทย์ก็ได้
  2. เจลแอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือ
  3. กระดาษเช็ดมือแบบเปียก

การป้องกันตัวเองเมื่ออยู่นอกบ้าน

  1. ควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือสบู่และน้ำสะอาด อย่างน้อย ทุก ๆ 30 นาที
  2. เมื่อรู้สึกมือสาก ๆ หยาบ ๆ หรือ หลังจากสัมผัสวัสดุภายนอกมาแล้ว แล้วยังไม่ได้ล้างมือ ควรล้างมือทันที
  3. ใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด เจอผู้คนมากมาย หรือแม้แต่เข้าไปในสถานที่ราชการ รวมถึงโรงพยาบาลด้วย
  4. หน้ากากอนามัยควรเปลี่ยน หรือทิ้งทันที เมื่อรู้สึกว่าสกปรก หรือใส่แล้ว 1 วัน
  5. เจลแอลกอฮอล์ ควรทิ้งทันที เมื่อเจอความร้อน หรือกลายเป็นน้ำ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อลดลง

วิธีดูแลตัวเองเมื่อกลับเข้าบ้าน

  1. หากเดินทางไปโรงพยาบาล คลินิก หรือสถานที่ทางการแพทย์ หรือสถานที่ ที่พบผู้ติดเชื้อ ต้องอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดการติดเชื้อ
  2. หากกลับจากที่ทำงาน หรือเดินห้าง หรือสถานที่อื่น ๆ ที่มีความแออัด ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที โดยแยกไว้ต่างหาก ควรมีฝาปิดหรือผ้าคลุมไว้อีกที
  3. ควรใส่น้ำยาฆ่าเชื้อแช่ผ้าไว้ก่อนซัก หรือแยกเสื้อผ้าซักในส่วนที่สกปรกมาก หรือไม่สกปรกเลย จะช่วยลดแบคทีเรียและเชื้อโรคได้
  4. ให้สังเกตอาการตัวเราเองอยู่บ่อย ๆ หากมีอาการผิดปกติ ให้รีบตรวจ ATK ทันที
  5. สามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ (NSS) 2-3 วันต่อครั้ง เพื่อลดการสะสมเชื้อโรคได้
  6. หมั่นดูแลร่างกายตัวเอง ให้สุขภาพแข็งแรงอยู่ตลอดเวลา ทั้งการออกกำลังกาย การทานอาหาร
  7. และที่สำคัญ การพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันที่ดีได้

อาการที่ควรไปพบแพทย์

  • มีอาการคลายหวัด, คัดจมูก, ไอ, จาม ผิดปกติ
  • มีอาการเหนื่อยหอบง่าย แม้เวลาเดินในระยะสั้น ๆ
  • ไข้สูง หนาวสั่น ไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจยืนยันการติดเชื้อ
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ลิ้นไม่รับรส ไม่ได้กลิ่น
  • ถ่ายเลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน


          ไม่ว่าเราจะไปสัมผัสสิ่งใดก็ตามที่อยู่ใกล้ชิดตัวเรา หรือแม้แต่บุคคลที่ใกล้ชิดกับโรคโควิด ให้คอยระลึกอยู่เสมอว่า อาจจะมีเชื้อโรคอยู่ ดังนั้น เราควรล้างมือบ่อย ๆ และหมั่นทำความสะอาดร่างกาย และเสื้อผ้าอยู่เสมอ หรือเวลาทำความสะอาดแต่ละครั้ง ทั้งที่บ้านหรือที่ทำงาน แนะนำให้ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคไปด้วย อย่างน้อย ๆ ก็ทำให้เรามั่นใจในความสะอาดมากขึ้น และเป็นการป้องกันเชื้อโรคอีกทางหนึ่งด้วย

 


Reference:

  • โรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์.  (2565).  6 วิธีดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดให้ห่างไกล COVID-19.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3w8RTaT
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ.  (2565).  เช็กอาการ! ผู้ป่วยโควิด-19 ในแต่ละระดับสี อาการเป็นอย่างไร?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3wnGDWR
  • โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ.  (2565).  วิธีการป้องกัน รับมือ “ไวรัส COVID-19”.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3L9sUIo

 

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general