โรคซึมเศร้า ภัยเงียบใกล้ตัว ที่น่ากลัวกว่าที่คิด

          เรามักจะได้ยินเรื่องราวน่าหดหู่ใจเกี่ยวกับผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ที่มักจะจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายตามข่าวต่าง ๆ โดยสถิติในประเทศไทย มีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคนต่อปี และเพศหญิงเสี่ยงป่วยมากกว่าเพศชายถึง 1.7 เท่า โดยในช่วงอายุที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด คือ วัยทำงาน อายุระหว่าง 25-59 ปี ซึ่งโรคนี้ถือได้ว่าเป็นภัยเงียบด้านสุขภาพ หากมีอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า

          แน่นอนว่าเราไม่อยากให้โรคนี้เกิดกับคนที่เรารัก ทั้งคนใกล้ตัวหรือแม้แต่ตัวเราเอง บทความนี้จะพามาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น ทั้งสาเหตุการเกิด อาการ และการป้องกันโรคนี้ เพื่อให้เราสามารถรับมือกับโรคซึมเศร้าได้อย่างถูกต้อง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
          โรคซึมเศร้าเกิดได้หลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งมาจากการทำงานผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง (neurotransmitters) ที่ไม่สมดุลกัน ส่วนกรรมพันธุ์ก็ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ชอบคิดมาก หงุดหงิดง่าย รู้สึกสิ้นหวังหมดหวัง ชอบโทษตัวเอง เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ทำอะไรคนเดียวบ่อย ๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการเข้าสังคมและการทำงาน หากเราสงสัยว่าจะเข้าข่ายโรคนี้หรือไม่ สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยได้

อาการของโรคซึมเศร้า
          หลาย ๆ คนกำลังสงสัยว่า เอ๊ะ?! เราเป็นหรือยังนะ หรือคนรอบตัวกำลังเป็นโรคซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า ให้เราสังเกตอาการดังนี้ หากเรามีอาการอย่างน้อย 5 อาการหรือมากกว่านั้น อีกทั้งเป็นติดต่อกันอย่างน้อย 14 วันและมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบทั้งวัน ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

  1.  มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (ในเด็กและวัยรุ่นอาจมีสาเหตุมาจากอารมณ์หงุดหงิดก็เป็นได้)
  2. ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมด ลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีอาการเบื่ออาหาร/เจริญอาหารมากจนเกินไป
  4. นอนไม่หลับ หรือหลับมากจนเกินไป
  5. กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
  6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
  9. คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

ส่วนการป้องกันของโรคซึมเศร้า สามารถทำได้ตามหลักสุขศึกษา คือ

  1. เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากขาดสารอาหารบางอย่างไปจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เช่น โอเมก้า 3 วิตามิน อี ซี ดี ทองแดง ธาตุเหล็ก เป็นต้น
  2. การออกกำลังกายบ่อย ๆ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ต่อเนื่องกัน 30-40 นาที หรือเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเร็ว, เดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ หรือการพยายามขยับตัวตลอดทั้งวัน เป็นต้น
  3. การพักผ่อนก็เป็นอีกวิธีที่ดี เพราะการนอนหลับที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะทำให้เรารู้สึกสดชื่น ไม่ง่วง หรืออ่อนเพลีย
  4. ทำสมาธิ (Mindfulness) การทำสมาธิที่ถูกวิธีจะช่วยให้เราผ่อนคลายจิตใจ ซึ่งมีงานวิจัยมากมาย พบว่า การทำสมาธิสามารถช่วยให้สมองผ่อนคลาย ลดความเครียดได้ดี
  5. การฝึกความคิดในด้านบวก พยายามฝึกให้ตัวเองเป็นคนมีความคิดด้านบวกอยู่บ่อย ๆ ทั้งกับตัวเราและคนรอบตัว เพื่อสร้างจิตใจให้มีความเข้มแข็ง สามารถชนะอุปสรรคในชีวิตได้

          สุดท้ายนี้หากใครต้องการคำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าสามารถติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1323 สายด่วนสุขภาพจิต ได้เลย


References :

  • กุสุมาวดี คำเกลี้ยง.  (2563).  จะซึมจะเศร้าก้าวผ่านได้.  กรุงเทพฯ: เนชั่นบุ๊คส์.
  • ธรณินทร์ กองสุข.  (2550).  โรคซึมเศร้า องค์ความรู้จากการทบทวนหลักฐานทางวิชาการ-อุบลราชธานี โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์.  อุบลราชธานี: ศิริธรรมออฟเซ็ท.
  • มาโนช หล่อตระกูล.  (2565).  โรคซึมเศร้าโดยละเอียด.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565, จาก https://bit.ly/3hRkYj4

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general