5 วิธีเอาตัวรอดเมื่อเรือจม รู้ไว้ปลอดภัยยามต้องเดินทาง

ในปัจจุบันการเดินทางท่องเที่ยวของเราสะดวกสบาย ด้วยมียานพาหนะที่หลากหลาย ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ โดยสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำเป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนนิยมนั่ง ไม่ว่าจะเป็นการนั่งเรือเฟอร์รี่, เรือสปีดโบ๊ท, เรือหางยาว ฯลฯ แต่แน่นอนว่าการเดินทางทางน้ำก็มีอันตรายที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดเช่นกัน เหมือนกับข่าวเรือรบหลวงที่พึ่งจมลงไปเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นวันนี้ วิชาการ เลยอยากจะมาขอแนะนำวิธีเอาตัวรอดเมื่อประสบเหตุเรืออับปางกลางทะเลกัน ว่าต้องเอาตัวรอดอย่างไร เราไปดูรายละเอียดกันได้เลย

5 วิธีเอาตัวรอดเมื่อเรือจม รู้ไว้ปลอดภัยยามต้องเดินทาง

1. ปลอดภัยไว้ก่อน

การป้องกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและอันตรายที่จะเกิดขึ้น ย่อมดีกว่าการต้องมาหาวิธีเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุเรือล่ม ดังนั้น ก่อนจะขึ้นเรือ เราควรเลือกเรือที่มีสภาพปลอดภัย ไม่บรรทุกน้ำหนักเกินที่กำหนด รวมทั้งมีอุปกรณ์ความปลอดภัยครบครัน ทั้งเรือชูชีพ, เสื้อชูชีพ,ห่วงยาง เป็นต้น ตลอดจนป้ายบอกเส้นทางอพยพที่ชัดเจน

2. เตรียมตัวเองให้พร้อมรับสถานการณ์

แน่นอนว่าการเดินทางทุกชนิดย่อมมีความเสี่ยง การเดินทางทางเรือก็เช่นกัน ดังนั้นก่อนจะขึ้นเรือเราต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม เช่น ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขึ้นเรือ เพื่อให้เรามีสติเต็ม 100 ตลอดเวลา, การสวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่กระชับ ไม่อุ้มน้ำ ไม่สวมรองเท้าหุ้มส้น หรือผูกเชือกที่ยากต่อการถอดออก เป็นต้น นอกจากนี้ต้องสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาเมื่อลงเรือ

3. สมดุลสำคัญที่สุด

เรืออยู่ได้ด้วยแรงลอยของอากาศที่อยู่ภายในเรือ ดังนั้นเรื่องของน้ำหนักและความสมดุลเมื่อโดยสารเรือจึงสำคัญที่สุด โดยเฉพาะหากต้องลงเรือลำเล็ก เราไม่ควรนั่งกระจุกตัวอยู่ฝั่งใด ฝั่งหนึ่งของเรือที่จะทำให้เรือเสียสมดุล หรือเดินวิ่งไปมาเมื่อเรือเคลื่อนที่อยู่

4. มีสติปฏิบัติตามขั้นตอนเมื่อเรืออัปปาง

หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เรือที่เราโดยสารไปเกิดอับปางขึ้นมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสติ อย่าตื่นตระหนก ให้รีบปฏิบัติตามขั้นตอนการเอาชีวิตรอด ดังนี้

  • สวมเสื้อชูชีพทันทีหากยังไม่ได้สวมใส่
  • หากเรือมีเรือชูชีพให้ปฎิบัติตามขั้นตอนการลงเรือชูชีพที่ลูกเรือแนะนำ
  • หากต้องกระโดดลงน้ำให้ว่ายห่างออกจากเรือมากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการโดนเรือดูดลงไปเมื่อเรือจม หรืออันตรายจากใบพัดเรือ
  • พยุงตัวรอการช่วยเหลือ โดยให้ว่ายตามกระแสน้ำ เพื่อเก็บแรง อย่าว่ายทวนน้ำ ไม่เช่นนั้นจะเหนื่อยจนหมดแรงได้ง่าย
  • เกาะกลุ่มลอยคอกันเป็นวงกลม เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

5. ช่วยเหลือคนตกน้ำ ต้องปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่าย

หากเป็นกรณีมีคนตกเรือ ต้องรีบแจ้งให้ลูกเรือทราบ หรือหากจำเป็นต้องลงไปช่วย ให้ผู้ที่ว่ายน้ำแข็งที่สุดเป็นผู้ลงไป โดยให้โยนอุปกรณ์ช่วยพยุงตัวให้ผู้ที่ตกน้ำได้เกาะ เช่น ห่วงยาง, เสื้อชูชีพ, แกลลอนเปล่า เป็นต้น หากมีเชือก ให้โยนเชือกให้ผู้ตกเรือจับเพื่อลากกลับเข้าเรือ หากมีความจำเป็นต้องลงไปช่วยคนตกน้ำ ต้องให้คนตกน้ำลอยคอแหงนหน้าขึ้น แล้วดึงเสื้อหรือกอดหน้าอกคนตกน้ำในลักษณะช้อนด้านหลังเพื่อช่วยพยุงตัว ห้ามให้คนตกน้ำขี่คอ หรือขี่หลังโดยเด็ดขาด เพราะผู้ช่วยเหลืออาจถูกกดจนจมน้ำได้

 

Reference:

  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669.  (2558).  เปิดเทคนิคการเอาตัวรอดจากภันเรือล่ม.  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3juOHCk

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general