ทำแท้งถูกกฎหมาย ปี 2022 มีเกณฑ์อย่างไร ทำได้จริงหรือไม่?

       

          ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก ในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นประกาศเพิ่มเติมจาก พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวการยุติการตั้งครรภ์เมื่อปี 2564


ขั้นตอนการขอยุติการตั้งครรภ์


          หญิงที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ ให้แจ้งความประสงค์ต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ซึ่งหมายถึงสถานพยาบาลรัฐ, เอกชน หรือองค์กรรัฐ,เอกชนก็ได้ ที่กรมอนามัยให้การรับรอง โดยจะต้องมีบริการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ เพื่อดำเนินการให้ผู้หญิงที่ต้องการขอยุติการตั้งครรภ์ เข้าสู่กระบวนการตรวจและต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม, ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์ก่อน โดยมีกระบวนการทั้งหมด 8 ขั้นตอนตามกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ดังนี้

  1. หญิงตั้งครรภ์ สามารถแจ้งความประสงค์ยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง, เป็นหนังสือ, ทางโทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างใดก็ได้ โดยกรมอนามัยจะประกาศรายชื่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกให้ประชาชนทราบ
  2. ภายหลังจากที่หน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ได้รับการแจ้งความประสงค์แล้ว จะดำเนินการให้หญิงได้รับการตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์ของหญิงจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อบังคับแพทยสภา
  3. ในกรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ให้หน่วยบริการปรึกษาทางเลือกดำเนินการ ให้หญิงได้รับการปรึกษาทางเลือก ซึ่งหมายถึงการให้คำปรึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์ด้วยข้อมูลที่หลากหลาย, ถูกต้อง และรอบด้าน
  4. ภายหลังได้รับคำปรึกษาแล้ว หน่วยบริการทางเลือกจะออกเอกสารตามแบบที่กรมอนามัยกำหนดแก่หญิง เพื่อแสดงว่าได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามประกาศนี้ โดยอาจทำในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
  5. กรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากหญิงยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ หน่วยบริการปรึกษาทางเลือกจะดำเนินการต่อ เพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา
  6. กรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแล ช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป
  7. หากหญิงตั้งครรภ์นั้นยืนยันที่จะตั้งครรภ์ต่อ ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกดำเนินการให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือ หรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป
  8. หากหญิงนั้นประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณานำแนวทางการดูแลช่วยเหลือ หรือการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่หญิงที่จะดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ดังกล่าวด้วย


หลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

  1. ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต นักจิตวิทยา หรือนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน หรือ ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการปรึกษาทางเลือกในองค์กรภาครัฐหรือเอกชน หรือ หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่กรมอนามัยให้การรับรอง
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ต้องผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ตามที่กรมอนามัยกำหนด และขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัยแล้ว
  3. ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ต้องให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ให้คำนึงถึงหลักการ เช่น การรับฟังปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร การไม่ตีตราหรือตัดสินเกี่ยวกับการกระทำ การให้ถ้อยคำ การแสดงทัศนคติ หรือพฤติการณ์ต่างๆ ของหญิงตั้งครรภ์ รวมไปถึงการให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม ได้แก่ ความเสี่ยง ความปลอดภัย ข้อห้ามทางการแพทย์ รวมถึงข้อมูลอื่น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกอย่างรอบคอบ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและวางแผนชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและเงื่อนไขชีวิตของหญิงตั้งครรภ์
  4. ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นต้องให้อิสระ ไม่โน้มน้าว และไม่บีบบังคับให้หญิงตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง และการรักษาความลับในการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์
  5. การให้คำปรึกษาทางเลือกให้ดำเนินการโดยเร็ว และคำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิง ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากต้องมีการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเมื่อคำปรึกษาทางเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกออกเอกสารตามแบบที่กรมอนามัยกำหนดแก่หญิงตั้งครรภ์
  6. ทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือหรือจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่หญิงในกรณีที่ยืนยันที่จะตั้งครรภ์ต่อ หรือต้องการความช่วยเหลือ
  7. ในระยะเริ่มแรกนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางเลือกอยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไม่ผ่านการอบรมเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาจากกรมอนามัย ยังสามารถให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับจากวันที่ประกาศนี้บังคับใช้

          จะเห็นว่าประกาศนี้ต้องการให้หญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับคำปรึกษาอย่างถี่ถ้วนรอบด้าน จากบุคลากรและหน่วยงานทางสาธารณสุขที่ผ่านการอบรม มีความน่าเชื่อถือและที่สำคัญถูกกฎหมาย หญิงตั้งครรภ์จะได้รับคำปรึกษา ช่วยตัดสินใจ รวมไปถึงสามารถวางแผนชีวิตให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพปัญหาและเงื่อนไขชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ดังกล่าวได้ ปัจจุบันมีสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ใน 47 จังหวัด โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดบริการสายด่วน 1663 ให้เป็นช่องทางที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ รวมไปถึงส่งต่อไปยังสถานบริการที่ปลอดภัยน่าเชื่อถือ


Reference:

  • ไทยรัฐออนไลน์.  (2565).  สธ. ประกาศแล้ว ตั้งครรภ์เกิน 12-20 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3DqYnWb
  • กระทรวงสาธารณสุข.  (2565).  ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565, จากhttps://bit.ly/3Fc9Gms
  • ธันยพร บัวทอง.  (2565).  ทำแท้ง: เปิดกฎหมายยุติตั้งครรภ์หญิงอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ และทำไมการทำแท้งปลอดภัยยังเข้าถึงยาก.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565, จาก https://bbc.in/3FitvIu
  • The coverage.  (2565).  ตั้งครรภ์เกิน 12-20 สัปดาห์ ทำแท้งได้-ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3zaPP2W





วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general