“มิว” โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ อันตรายแค่ไหน?

       

          แม้สถานการณ์ของโควิด-19 ผ่อนคลายลงไปมากแล้ว ประชาชนอย่างเราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการการป้องกัน ไม่ว่าการสวมหน้ากากอนามัย การทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามหากพูดถึงตัวไวรัสโควิดเอง ก็ยังมีรายงานของการกลายพันธุ์อยู่อย่างต่อเนื่อง “มิว” ก็เป็นหนึ่งในโควิด-19 กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่น่าจับตามองถึงความอันตราย


          โดยมีรายงานของการพบโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” (Covid-19 Mu variant) หรือ สายพันธุ์ B.1.621 ครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2564 ณ ประเทศโคลอมเบีย โดยมีการกลายพันธุ์ทั้งหมด 50-60 ตำแหน่ง ซึ่งมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่สำคัญ 5 ตำแหน่งคือ ตำแหน่ง P681H, E484K, K417N, R346K และ Y144T บนจีโนมของไวรัส จึงทำให้ไวรัส โควิด-19สายพันธุ์นี้มีคุณสมบัติสามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของเราได้ เช่นเดียวกับโควิดสายพันธุ์เบต้าที่ระบาดในแอฟริกาใต้ นอกจากนี้ยังสามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย


อาการของการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ “มิว”


เบื้องต้นมีอาการใกล้เคียงกับอาการติดเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ เช่น มีไข้ ไอ การรับรส รับกลิ่นลดลง เป็นต้นส่วนอาการเฉพาะตัวยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษา


โควิดสายพันธุ์“มิว” น่ากลัวแค่ไหน?


          ด้วยเหตุผลของความรวดเร็วในการกลายพันธุ์ของโควิด-19 สายพันธุ์ “มิว” ดังที่กล่าวมา ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงองค์การด้านสาธารณสุขในหลาย ๆ ประเทศ มีความกังวลและยังคงจับตามองผลของการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์นี้ โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดหมวดให้กับสายพันธุ์“มิว” ไปอยู่ในประเภท “สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest: VOI)” ร่วมกับโควิดสายพันธุ์อีต้า (Eta) ไอโอต้า (Iota) และแคปป้า (Kappa) แม้ปัจจุบันยังไม่มีรายงาน อาการรุนแรงจากการติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าว และอีกทั้งยังไม่พบการรายงานของการพบโควิด-19 สายพันธุ์“มิว” ในประเทศไทย จึงไม่น่าวิตกเท่าที่ควร หากเทียบกับสายพันธุ์ XBB ที่พบในผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
          อย่างไรก็ตาม เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์“มิว” นี้จะไม่กลายพันธุ์อีกต่อไป หรืออาจจะกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จนมีผลทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ เราเองก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือเราคงต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ระมัดระวัง และดูแลตัวเองอย่างที่เคยทำกันมาอย่างต่อเนื่อง อย่าพึ่งลดการ์ดการป้องกันลง ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยหากอยู่ที่พื้นที่แออัด การทำความสะอาดมือและพื้นผิวสัมผัสอยู่เสมอ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น


มาตรการของประเทศไทย

          ส่วนมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศไทย ยังคงดำเนินการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยด่านควบคุมโรคติดต่อท่าอากาศยานทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินนานาชาติในภูมิภาคได้ยกระดับการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากต่างประเทศ โดยหากผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ ที่พบการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ, เจ็บคอ, มีไข้, มีน้ำมูก เมื่อมาถึงสนามบิน สามารถแจ้งกับพนักงานที่ด่านควบคุมโรค เพื่อขอรับการตรวจการเชื้อโควิด ก่อนเข้าประเทศได้ฟรี รวมถึงมีคำแนะนำให้ผู้โดยสารที่จะเดินทางออกนอกประเทศให้ระมัดระวังมากขึ้น เพื่อป้องกันการนำเชื้อไวรัสกลับเข้ามายังในประเทศ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ยังคงเป็นเบอร์สายด่วนที่เปิดให้ประชาชนที่ต้องการติดสอบถามข้อมูลสามารถโทรขอคำปรึกษาได้


Reference:

  • The Coverage.  (2565). ไทยพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ XBB แล้ว 2 ราย เดินทางจากต่างประเทศ เบื้องต้นหายป่วยแล้ว.  สืบค้นเมื่อวันที่ 01พฤศจิกายน 2565 จาก https://bit.ly/3Wzkhy7
  • The Coverage.  (2564).  “มิว” โควิด -19 สายพันธุ์สุดแสบ มีแนวโน้มต่อต้าน “วัคซีน” ผสมข้ามพันธุ์ได้ง่าย.  สืบค้นเมื่อวันที่ 01พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3SUdmw3
  • อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด.  (2564).  จับตา “มิว” โควิดสายพันธุ์ตัวใหม่ เป็นยังไง แล้วต้องกังวลขนาดไหน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 01พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3FvQwYO
  • โรงพยาบาลเพชรเวช.  (2564).  โควิดสายพันธุ์มิวคืออะไร อันตรายแค่ไหน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 01พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3DvitgL



วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general