อหิวาตกโรค โรคระบาดที่กลับมาใหม่ ในน้ำและอาหาร

 

          อหิวาตกโรค โรคระบาดที่คนไทยรู้จักกันมาช้านาน ในรัชสมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มีผู้คนล้มตายจำนวนมากจากโรคนี้ ซึ่งติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดโรคและเสียชีวิต เนื่องจากระบบสาธารณสุขในยุคสมัยนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควรจึงทำให้อัตราการตายจากโรคนี้ค่อนข้างสูงและเมื่อไม่นานมานี้มีดาราท่านหนึ่งก็ป่วยด้วยอหิวาตกโรค วิชาการ มีความรู้เกี่ยวกับอหิวาตกโรคมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน

สาเหตุของอหิวาตกโรคคืออะไร

          เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Vibrio Cholerae โดยแบคทีเรียนี้จะพบในอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลหรืออุจจาระของคนที่มีเชื้อและแพร่ระบาดได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าไป แบคทีเรียชนิดนี้สามารถสร้างสารพิษในลำไส้ ซึ่งจะเกาะที่ผนังลำไส้รวมกับโซเดียมหรือคลอไรด์ ที่ไหลผ่านลำไส้ เกิดการกระตุ้นให้ร่างกายขับน้ำออกจากตัว จนนำไปสู่อาการท้องร่วงรวมทั้งสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือดอย่างกะทันหัน

อาการของอหิวาตกโรคเป็นอย่างไร

  • ท้องร่วง
    เกิดขึ้นทันทีและก่อให้เกิดการสูญเสียของเหลวในร่างกาย ซึ่งถือว่าอันตราย ผู้ป่วยอาจสูญเสียน้ำ 1 ลิตร ภายใน 1 ชั่วโมง ลักษณะของอุจจาระเหมือนน้ำซาวข้าวและมีกลิ่นเหม็นคาว
  • คลื่นไส้อาเจียน
    เกิดอาการอยู่หลายชั่วโมง เกิดในช่วงแรกตามอาการของโรค
  • ประสบภาวะขาดน้ำ
    เกิดอาการขาดน้ำได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หลังเกิดอาการของโรคจะรุนแรงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าสูญเสียของเหลวในร่างกายไปมากหรือน้อย ถ้า 10% ของร่างกายหรือมากกว่าก็สามารถเกิดอาการขาดน้ำในขั้นรุนแรงได้
  • อาการอื่น ๆ
    หงุดหงิดง่าย เซื่องซึม ตาโหล ริมฝีปากแห้ง กระหายน้ำมาก ผิวเหี่ยวและแห้ง ปัสสาวะน้อยมาก ความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นผิดจังหวะ ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ของเลือดทำให้เกิดอาการดังนี้
    • เป็นตะคริว ร่างกายเกิดการสูญเสียเกลือแร่อย่างกะทันหัน เช่น โซเดียมคลอไรด์ โพแทสเซียม เป็นต้น
    • เกิดอาการช็อก เป็นภาวะแทรกซ้อนจากอาการขาดน้ำที่รุนแรงที่สุด ปริมาตรของเลือดต่ำลง ความดันเลือดและออกซิเจนต่ำลงด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษา สามารถเกิดภาวะช็อกจากการขาดน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกันทำอย่างไร

การวินิจฉัย

  • การตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วย
    ส่องกล้องจุลทรรศน์ ชนิด Dark Field หรือ Phase Contrast เชื้อแบคทีเรียจะมีรูปร่างคล้ายเครื่องหมายจุลภาค (Comma) และเคลื่อนที่ไปมา
    การเพาะเลี้ยงเชื้อลงบนอาหารเลี้ยงเชื้อเฉพาะ เพื่อแยกแบคทีเรียก่อโรคอหิวาตกโรคและยืนยันเชื้อด้วยการทดสอบทางชีวเคมีเบื้องต้น ทดสอบสารพิษที่เชื้อสร้างขึ้นด้วย

การตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วยนับเป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้ในการวินิจฉัย

  • การตรวจด้วยชุดตรวจอหิวาตกโรค
    วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สามารถเข้ารับการตรวจด้วยวิธีการตรวจอุจจาระได้ เป็นการตรวจเบื้องต้น เพื่อความรวดเร็วและรักษาได้ทันท่วงที
  • เทคนิคพีซีอาร์
    เป็นการสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอของเชื้ออหิวาตกโรค สามารถตรวจพบได้แม้เชื้อมีปริมาณน้อย ๆ คล้ายกับการตรวจโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน

การรักษา

  • การรับประทานน้ำเกลือแร่
    ช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำและเกลือแร่ในเลือดทดแทนจากที่เสียไป
  • การให้สารน้ำทดแทน
    เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งรักษาภาวะช็อกจากอาการขาดน้ำเฉียบพลันด้วย
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ
    ยาบางตัวช่วยลดจำนวนและระยะเวลาของอาการท้องร่วงได้ เช่น Doxycycline, Azithromycin เป็นต้น
  • การให้แร่สังกะสี
    แร่ธาตุสังกะสีลดและย่นระยะเวลาของอาการท้องร่วงที่เกิดจากอหิวาตกโรคในเด็กได้

การป้องกัน

  • ล้างมือให้สะอาด ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
  • ดื่มน้ำต้องสุกและสะอาด ดื่มน้ำต้มสุกที่เดือดประมาณ 1 นาที
  • รับประทานอาหารปรุงสุก ช่วงการระบาดของโรคควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
  • หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก กึ่งสุกกึ่งดิบ
  • รับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกเอง เลือกรับประทานผลไม้ที่ปอกเปลือกเอง เช่น ส้ม กล้วย อะโวคาโด เป็นต้น

          อหิวาตกโรคที่ใคร ๆ ก็สามารถเกิดโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพศชายหรือเพศหญิง ถ้ามีการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนและถ้าวินิจฉัยไม่ทันหรือได้รับการรักษาที่ช้า อาจนำไปสู่ภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ เมื่อทุกท่านได้อ่านบทความนี้แล้ว วิชาการ หวังว่าคงเป็นประโยชน์และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ขอให้ทุกท่านสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากอหิวาตกโรค

Reference:

  • POBPAD.  (2566).  อหิวาตกโรค.  สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/2IqUPZj
  • กรมศิลปากร.  (2563).  โรคระบาดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนอหิวาตกโรค.  สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3IqhCk0
  • กรมควบคุมโรค.  (2562).  อหิวาตกโรค (Cholera) (Cholera).  สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3YXzQjP







วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general