5 โรคอันตรายในหน้าร้อนที่ควรระวัง พร้อมวิธีป้องกัน

          เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อนในแต่ละปี นอกจากอากาศที่ร้อนขึ้นแล้ว ยังมีโรคภัยไข้เจ็บที่มากับฤดูร้อนเช่นเดียวกัน โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค ซึ่งมักพบในอาหารและน้ำดื่ม ส่งผลให้เกิดเป็นโรคทางเดินอาหารเป็นส่วนใหญ่ในฤดูร้อน วิชาการ มี 5 โรคอันตราย ในหน้าร้อน ที่ควรระวัง ให้ทุกท่านได้อ่านกัน

  1. โรคอุจจาระร่วง

    เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาดตามสุขลักษณะ อาหารที่ปรุงไม่สุก การใช้ภาชนะที่ปนเปื้อนเชื้อโรคและลำไส้มีการอักเสบทำให้เกิดการติดเชื้อ ส่งผลให้มีการถ่ายอุจจาระเหลวผิดปกติตั้งแต่ 3 ครั้งติดต่อกันหรือมากกว่า ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายมีมูกเลือดปน 1 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  2. ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย

    เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Salmonella typhi โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ส่งผลให้มีไข้ต่ำ ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น ปวดศีรษะ น้ำหนักลด เหงื่อออก ปวดท้อง ท้องเสีย ไอแห้ง ๆ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามร่างกาย ผื่นขึ้นที่ท้องหรือหน้าอก
  3. โรคอาหารเป็นพิษ

    เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อหรือสารเคมีเข้าไป ทำให้ปวดมวนท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง บางครั้งมีอาการคล้ายบิด ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมูก มีไข้หนาวสั่น ซึม ไม่มีแรง อ่อนเพลีย มือเท้าเย็น ปัสสาวะสีเข้มหรือไม่ปัสสาวะเกิน 6 ชั่วโมง

  1. โรคอหิวาตกโรค (โรคท้องร่วงรุนแรง)

    เป็นโรคติดเชื้อทางเดินอาหารจากแบคทีเรีย แบคทีเรียที่มีชื่อว่า vibrio cholera ที่สามารถสร้างสารพิษได้ ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมาก โดยไม่มีอาการปวดท้อง อุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เกิดอาการช๊อกและเสียชีวิตได้
  2. โรคไวรัสตับอักเสบเอ

    เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของตับแบบเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไปและสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทำให้เกิดอาการ ไข้ ถ่ายเหลว ท้องเสีย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้องใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)


วีธีการป้องกันโรคที่มากับฤดูร้อน

  • ล้างมือให้สะอาด ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
  • ดื่มน้ำต้มสุกและสะอาด ดื่มน้ำต้มสุกที่เดือดประมาณ 1 นาที
  • รับประทานอาหารปรุงสุก ช่วงการระบาดของโรคควรรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
  • หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุก กึ่งสุกกึ่งดิบ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค สำหรับโรคที่มีวัคซีนป้องกันโรค ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย สำหรับผู้ที่ป่วยควรแยกของกิน ของใช้ส่วนตัว ออกจากบุคคลอื่นป้องกันการติดต่อของโรคที่ติดกับภาชนะและร่างกายของผู้ป่วย

การดูแลรักษาโรคทางเดินอาหาร

การรักษา

  • การรับประทานน้ำเกลือแร่ ช่วยให้ร่างกายได้รับน้ำและเกลือแร่ในเลือดทดแทนจากที่เสียไป
  • การให้สารน้ำทดแทน เพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งรักษาภาวะช็อกจากอาการขาดน้ำเฉียบพลันด้วย
  • การใช้ยา ยาบางตัวช่วยลดจำนวนและระยะเวลาของอาการท้องร่วงได้ เช่น Doxycycline, Azithromycin เป็นต้น รับประทานยาพาราลดไข้ ลดอาการปวด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากร่างกายอ่อนเพลียจากการอุจจาระ การพักผ่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยในการรักษาอาการป่วย ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น

          โรคที่ควรระวังในหน้าร้อน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารบูด เน่าเสีย ดังนั้นเราควรตระหนักถึงเรื่องของความสะอาด ถูกสุขลักษณะ ของอาหารและน้ำดื่มที่เรารับประทานเข้าไป รวมไปถึงการล้างมือทำความสะอาดหลังออกจากห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร เพื่อตัดวงจรชีวิตของเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถห่างไกลจากโรคอันตรายที่มากับฤดูร้อน


Reference:

  • กรมควบคุมโรค.  (2565).  เปิด 5 โรคฤดูร้อนและ 3 ภัยสุขภาพที่ควรระวัง.  สืบค้นเมื่อวันที่ 09 มีนาคม 2565, จาก https://bit.ly/3YFwXDj
  • รู้ใจ.  (2565).  ระวัง!โรคอันตรายและผลเสียต่าง ๆ ที่มากับอากาศร้อน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 09 มีนาคม 2566,จาก https://bit.ly/3YDBzJV
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  (2566).  5 โรค ฤดูร้อนที่ควรระวัง.  สืบค้นเมื่อวันที่ 09 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3l1yS7w







วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general