ลางานแบบไหนไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ และไม่โดนหักเงินเดือน

 

          การลางาน ถือเป็นสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างบริษัท, พนักงานโรงงาน, งานรับราชการ, พนักงานรัฐวิสาหกิจ, ลูกจ้างหน่วยงานราชการ เป็นต้น ซึ่งการลาก็มีมากมายหลายประเภท แต่ละหน่วยงานต่างก็มีนโยบายการลางานที่แตกต่างกันออกไปตามกฎของแต่ละหน่วยงาน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ยังต้องเป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ไม่สามารถกำหนดขึ้นมาเองได้

          แล้วการลางานแบบไหนที่เราไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แถมยังได้รับเงินเดือนปกติ บทความนี้ วิชาการ จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการลางานตามกฎหมายแรงงานกำหนด จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูรายละเอียดกันได้เลย

ประเภทการลางานมีอะไรบ้าง

1. การลาป่วย

    • ลาได้ตามที่ป่วยจริง ไม่จำเป็นต้องป่วยหนักก็ลาได้ เช่น ปวดหัว, ปวดท้อง, ไข้หวัด เป็นต้น ไม่ได้กำหนดว่าลาได้กี่วัน
    • ลาป่วย 1-2 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์
    • ลาตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป (เฉพาะวันทำงาน) นายจ้างมีสิทธิ์ขอดูใบรับรองแพทย์ หรือหากไม่มีใบรับรองแพทย์ กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างชี้แจงได้ เช่น ภาพถ่าย,ใบเสร็จค่ายา,พยานบุคคล เป็นต้น
    • ลาป่วยไม่เกิน 30 วัน มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้าง แต่หากเกิน 30 วัน ไม่ได้รับค่าจ้าง
    • การลาเพื่อไปตรวจร่างกาย กรณีรักษาหายแล้ว แต่แพทย์ติดตามอาการ ลาป่วยไม่ได้
    • การลาป่วยเท็จ ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ หากเกิน 3 วันนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ (ได้รับค่าชดเชย)

หมายเหตุ ลาป่วยไม่รวมวันลาคลอดบุตร ลาทำหมัน, ระเบียบว่าด้วยการลาป่วยทุกกรณีต้องมีใบรับรองแพทย์ ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2. การลากิจ

    • ลาได้ไม่เกิน 3 วันทำงานต่อปี จึงจะยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติเหมือนวันทำงาน
    • ถ้าเกิน 3 วัน จะไม่ได้รับค่าจ้างส่วนที่ลาเกิน เช่น ลากิจ 7 วัน จะได้รับค่าจ้างเพียง 3 วัน อีก 4 วันที่เหลือจะไม่ได้รับค่าจ้างส่วนที่ลาเกินนั่นเอง

3. การลาคลอด

    • ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน (รวมวันหยุดในระหว่างลาคลอดด้วย) 
    • ได้รับค่าจ้างตามปกติไม่เกิน 45 วันต่อครรภ์ และจากประกันสังคมอีก 45 วัน
    • ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ก็ได้
    • สามารถลงวันที่คลอดหรือก่อนคลอดก็ได้

          นอกจากนี้ คู่สมรสยังสามารถลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรด้วย โดยมีรายละเอียดการลา ดังนี้

  • ลาติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการต่อครั้ง
  • เสนอใบลาก่อนหรือในวันลาภายใน 90 วัน

4. การลาเพื่อรับราชการทหาร

    • ลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล, ทดสอบความพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
    • ลาได้จนกว่าจะเรียบร้อย (ตามระยะเวลาของภารกิจในหมายเรียก)
    • ได้รับค่าจ้างตามที่ลา ไม่เกินปีละ 60 วัน

5. การลาทำหมัน

    • ลาตามระยะเวลาแพทย์กำหนด
    • นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามจริง ตามวันทำงานในใบรับรองแพทย์ระบุ
    • ไม่รวมลาป่วย

6. ลาเพื่อฝึกอบรม

    • ลาตามระยะเวลาที่ฝึกอบรม
    • แจ้งนายจ้างล่วงหน้า 7 วัน
    • ถ้าปีที่แล้วลาเพื่อฝึกอบรมมาแล้วไม่น้อยกว่า 30 วันหรือ 3 ครั้ง นายจ้างมีสิทธิ์ไม่อนุญาตได้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับงาน


           การลางานประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถนำไปเป็นข้อควรรู้หรือข้อปฏิบัติในการลางานได้ ซึ่งการลางานดังกล่าวล้วนมีข้อกฎหมายรองรับ หากผู้อ่านเคยลาแล้วไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ควรจะเป็น หรือถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องของการลางาน ไปจนถึงปัญหาแรงงานต่าง ๆ สามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ โดยร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดหรือเขตพื้นที่ 1-10, เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทรปรึกษา 1546 หรือ 1506 กด 3 ได้

 



Reference:

  • Bee HR.  (2565).  ประเภทของวันลาและการลางานตามกฎหมายแรงงานในประเทศไทย.  สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3DToq8Y
  • Business Plus.  (2564).  ลาป่วย 20 ข้อที่ควรรู้.  สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3fazPqA
  • SO PEOPLE.  (2565).  “วันลา” ลาได้กี่วัน พนักงานออฟฟิศควรรู้.  สืบค้นเมื่อ 25 กันยายน 2565, จาก https://bit.ly/3SA83Cl

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general