Quiet Quitting คืออะไร การลาออก โดยไม่ลาออก มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

          Quiet Quitting กำลังเป็นที่พูดถึงในโลกโซเชียลมีเดียในต่างประเทศ โดยเฉพาะใน TikTok วันนี้ วิชาการรอบตัวเรา จะพาทุกท่านไปดูว่า Quiet Quitting คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และมีข้อดีข้อเสียหรือไม่

Quiet Quitting คืออะไร

          อันที่จริงแล้ว Quiet Quitting ไม่ได้หมายถึงการลาออกจากงานที่เราทำอยู่ แต่เป็นการทำงานเฉพาะหน้าที่ของตนที่มีตามตำแหน่งของตน ไม่มีการทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากหน้าที่ ไม่ทำ Overtime (OT), ลดรับอาสาช่วยงานรวมไปถึงอ่านอีเมล หรือตอบไลน์เกี่ยวกับเรื่องงานนอกเวลาทำงาน ซึ่งฟังดูแล้วก็ไม่ใช่ไอเดียใหม่อะไร เพียงแต่เป็นวิธีการทำงานรูปแบบหนึ่ง แต่สำหรับบางคน Quiet Quitting อาจจะรวมไปถึงการหยุดพัฒนาตนเองในสายอาชีพไปเลยทีเดียว

          ในอีกมุมหนึ่งก็มีผู้ไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้โดยเฉพาะเหล่ากูรูด้านการทำงานโดยให้เหตุผลว่า พนักงานที่ทำ Quiet Quitting ยากที่จะเห็นความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยยังกล่าวต่ออีกว่า การที่คนคนหนึ่งกำลังคิดที่จะทำ Quiet Quitting หรือกำลังทำมันอยู่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าควรหางานใหม่ที่ตนสนใจ หรือท้าทายมากขึ้น

สาเหตุมาจากอะไร

          หลายฝ่ายต่างออกมาให้เหตุผลของการ Quiet Quitting ที่กำลังเป็นที่สนใจในหมู่คนทำงานรุ่นใหม่ โดย Dr. Anthony Klotz อาจารย์ด้านการจัดการ มหาวิทยาลัย University College London ให้ข้อมูลกับทาง BBC ว่า Quiet Quitting ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่เป็นแบบการทำงานรูปแบบหนึ่ง และมีหลายสาเหตุที่ทำให้พนักงานเลือกที่จะทำงานเท่าที่จำเป็น เช่น กลยุทธ์สำหรับคนที่อยากลาออกแต่ยังหาที่งานใหม่ไม่ได้ หรือ ขาดโอกาสในการหางานที่ “ใช่” เพราะสำหรับบางคน การออกจากงานที่ทำอยู่ก็มีความเสี่ยง บวกกับภาระที่มีอยู่ อีกสาเหตุสำคัญคือการทำงานอย่างอุทิศชีวิตเพื่อให้องค์กรก้าวหน้าโดยแลกมาด้วยสุขภาพและเวลาส่วนตัวที่เสียไป แถมผลตอบแทนก็ไม่ได้มากตาม ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะ Quiet Quitting

          การระบาดของโรค Covid-19 ส่งผลให้พนักงานหลายคนเกิดอาการหมดไฟ (Burnout) ความเครียดสะสม เพราะ ประชุมมากขึ้น ต้องออนไลน์หรือตอบคำถามเรื่องงาน จนเลยเวลาทำงาน หรือสำหรับบางคนภาระงานก็มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดความเหนื่อยหน่ายกับการใช้เวลาในการทำงานที่มากขึ้น หรือความรู้สึกว่าองค์กร หรือหัวหน้าไม่ให้ความสำคัญ แทนที่จะทำงานหลักจนหมดไฟ หลายคนจึงเลือกที่จะเอาเวลาและพลังงานที่มีไปทำอย่างอื่นในชีวิตนอกเหนือจากงาน นักวิชาการด้านองค์กรก็ออกมาเสริมอีกว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีความผูกพันกับองค์กรน้อยลง เมื่อเทียบกับในอดีต

ข้อดี

  • เป็นช่วงเวลาที่ให้เราได้จัดระเบียบชีวิตได้ ตัวอย่าง เมื่อเรามีเวลามากขึ้น เราก็จะมีเวลาในการมองย้อนชีวิตดูว่าอะไรเป็นสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ และอะไรที่เราควรลดความสำคัญลง
  • การ Quiet Quitting ของใครหลายคน ทำให้ต้องโฟกัสการทำงานในชั่วโมงงานมากขึ้น เพื่อทำงานให้เสร็จก่อนเลิกงาน จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เทรนด์นี้กลับให้ความสำคัญในจุดนี้น้อย
  • มีเวลาที่จะทำโปรเจกต์ที่อยากทำ เช่น ปลูกต้นไม้, ขายของออนไลน์, เรียนภาษาเพิ่ม
  • ได้พักผ่อน ได้คิด ส่งผลให้งานที่ทำในเวลางานนั้นดีขึ้น
  • มีเวลาให้กับเพื่อน คนที่เรารัก หรือครอบครัวได้มากขึ้น

ข้อเสีย

  • ทำให้พนักงานไม่มีความผูกพันกับผลงานที่ทำ และไม่ภูมิใจกับผลลัพธ์ที่ออกมา ความสุขในการทำงานลดลง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย เพราะในแต่ละวัน เราใช้เวลาในการทำงานมาก
  • เสียโอกาสหลายด้าน บ่อยครั้งการสร้างผลงานที่โดดเด่นจำเป็นใช้เวลาทำงานมากขึ้น เพื่อเลื่อนขั้นหรือขึ้นเงินเดือน ซึ่งทำให้คนที่ Quiet Quitting สูญเสียโอกาสเหล่านี้ไป
  • ทำงานเป็นทีมได้ลำบาก เพราะอาจถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจและเอาเปรียบคนในทีม
  • ไม่ได้พัฒนาตนเองในสายอาชีพ เนื่องมาจากการเข้าคอร์สอบรม หรือ Training ต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลานอกเหนือจากชั่วโมงงานปกติ

 


Reference:

  • Goh Chiew Tong.  (2565).  Is ‘Quiet Quitting ’ a good idea? Here’s what workplace experts say.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565, จาก https://cnb.cx/3RvuF73
  • BBC.  (2565).  ทำไม Quiet Quitting ไม่ใช่เรื่องใหม่.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565, จาก https://bbc.in/3RFQJeO
  • เพอริชา คุดเฮล.  (2565).  Quiet Quitting เทรนด์ทำงานที่กำลังมาแรงใน TikTok คืออะไร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565, จาก https://bbc.in/3QuDLj0

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general