ที่อยู่ภาษาอังกฤษ (Address) เขียนอย่างไรให้ส่งถึง พร้อมตัวอย่าง

เมื่อต้องการเขียนที่อยู่ของเราไปในใบสมัครงาน เรซูเม่ ขอวีซ่า หรือเอกสารต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าควรเขียนที่อยู่ภาษาอังกฤษอย่างไรให้ถูกต้อง และถ้ามีการส่งเอกสารใดๆมาแล้วเราจะได้รับเอกสาร มาเรียนรู้กันว่าควรเขียนที่อยู่ภาษาอังกฤษอย่างไร พร้อมตัวอย่างจริงจากบริษัทจริงๆที่ใช้ที่อยู่ภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างที่อยู่ภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างที่อยู่กลุ่มทรู

ภาษาไทย: 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
ภาษาอังกฤษ: 18 True Tower, Ratchadaphisek Road, Huai Khwang, Bangkok 10310, Thailand

โดยจะสังเกตว่ากลุ่มทรูเขียนที่อยู่โดยใช้ลูกน้ำ (,) เป็นตัวคั่นระหว่างที่อยู่แต่ละส่วน โดยไม่ได้ระบุคำว่า เขต (District) หรือคำว่า จังหวัด (Province) เลย

ตัวอย่างจากที่อยู่เคอรี่

ภาษาไทย: 899 ห้อง E101 ชั้น 1 เดอะซีซันส์มอลล์ ถนนพหลโยธิน สามเสนใน พญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
ภาษาอังกฤษ​: 899 Room E101, 1st Floor, The Seasons Mall, Phahon Yothin Road, Sam Sen Nai, Phaya Thai, Bangkok 10400

เช่นเดียวกันกับการเขียนที่อยู่ของเคอรี่ ซึ่งใช้ลูกน้ำเป็นการคั่น มีการระบุชื่อสถานที่คือ เดอะซีซันส์มอลล์ (The Seasons Mall) และไม่นิยมเขียนคำว่า เขต (District) หรือคำว่าจังหวัด (Province) เช่นกัน

เขียนเองยังไงดี

ลำดับการเขียนที่อยู่ภาษาอังกฤษนั้น แทบจะไม่แตกต่างจากการเขียนที่อยู่ในภาษาไทยเลย โดยเรียงลำดับการเขียนที่อยู่ภาษาอังกฤษดังนี้

1. ระบุ เลขที่ สถานที่ ก่อน

จุดเริ่มต้นของการเขียนที่อยู่ภาษาอังกฤษนั้น จะเริ่มจากการระบุ เลขที่บ้าน ซึ่งสามารถเขียนที่อยู่เริ่มต้นด้วยเลขที่บ้านได้เลย (หรือจะใช้ศัพท์  House No. / Number ตามด้วยเลขที่บ้านก็ได้ แต่ไม่นิยม)

และถ้ามี ชื่อสถานที่ อย่างชื่ออาคาร (Building) ชื่ออพาต์เมนต์ (Apartment) หรือต้องการระบุชั้น (Floor) ก็ได้ ดังตัวอย่าง

กรณีไม่มีชื่ออาคาร หรือชื่อสถานที่: ในส่วนแรกนี้ใส่แค่บ้านเลขที่ได้เลย เช่น 43/2
ตัวอย่างถ้ามีชื่ออาคาร
43/2 Room 431, 8th Floor, ABC Condominium (ห้อง 431 ชั้น 12 คอนโดมิเนียม ABC)

2. ตามด้วย หมู่-หมู่บ้าน ชื่อถนน ซอย-ตรอก

สำหรับที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว เรามักจะนิยมเขียนทับศัพท์คำว่า หมู่ เป็น Moo, ซอย ทับศัพท์ว่า Soi ส่วนถนน (Road) ตรอก (Alley) และหมู่บ้าน (Village) นั้น จะมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้ใช้

ตัวอย่างแบบมีชื่อซอย 43/2 Moo.5, Soi Phatthana, Sawasdee Road (43/2 หมู่ 5 ซอยพัฒนา ถนนสวัสดี)
ตัวอย่างแบบมีชื่ออาคาร 43/2 Room 431, 8th Floor, ABC Condominium, Soi Phatthana, Sawasdee Road (43/2 ห้อง 431 ชั้น 8 คอนโดมิเนียม ABC ซอยพัฒนา ถนนสวัสดี)
ตัวอย่างแบบมีหมู่บ้าน 43/2 Sansuk Village, Soi Phatthana, Sawasdee Road (43/2 หมู่บ้านแสนสุข ซอยพัฒนา ถนนสวัสดี)

3. ต่อด้วย แขวง-เขต / ตำบล-อำเภอ

จากนั้นเราจะระบุแขวง-เขต หรือ ตำบล-อำเภอ โดยจากตัวอย่างด้านบนจะสังเกตว่าส่วนมากจะนิยมไม่เขียนคำว่า แขวง เขต ตำบล หรืออำเภอ ในที่อยู่

แต่ถ้าเราอยากเขียน เราก็อาจเขียนทับศัพท์ไปเลยก็ได้ Tambon (ตำบล) Amphoe (อำเภอ) หรือถ้าจะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษก็คือ Sub-district (ตำบล/แขวง) และ District (อำเภอ/เขต)

4. ปิดท้าย จังหวัด รหัสไปรษณีย์ ประเทศ

สิ่งที่สำคัญต่อมาก็การระบุชื่อจังหวัด (Province) รหัสไปรษณีย์ (Postal Code) และประเทศ (Country) ในการจัดส่ง โดยสามารถเขียนไปเลยโดยไม่ต้องใส่คำว่าจังหวัด หรือคำว่ารหัสไปรษณีย์ได้เลย ชื่อประเทศก็ระบุไปเลยว่า Thailand ได้เลยเช่นกัน

ตัวอย่าง: 43/2 Sansuk Village, Soi Phatthana, Sawasdee Road, Bangrak, Bangkok 10500 Thailand (43/2 หมู่บ้านแสนสุข ซอยพัฒนา ถนนสวัสดี บางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 ประเทศไทย)

ตัวอย่างเพิ่มเติม

นอกจากนี้ก็มีบางบริษัทที่ใช้คำว่า District และ Subdistrict ในที่อยู่ เช่น ตัวอย่างจาก Minor Group ดังนี้

ภาษาไทย: 88 อาคารเดอะปาร์ค ชั้น 12 ถนนรัชดาภิเษกแขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
ภาษาอังกฤษ: 88 The Parq Building 12th Fl., Ratchadaphisek Road,
Klongtoey Subdistrict, Klongtoey District, Bangkok 10110

แหล่งอ้างอิง
  1. https://www3.truecorp.co.th/contact_us/cm?ln=en
  2. https://th.kerryexpress.com/en/where-we-are
  3. https://www.minor.com/th/home

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general