หากตอนนี้คุณกำลังรู้สึกเหนื่อยและหมดไฟกับการทำงาน จนบางครั้งแทบจะไม่อยากลุกไปทำงาน ขอบอกว่านี่อาจจะไม่ได้เป็นเพราะคุณขี้เกียจ แต่คุณอาจจะกำลังเผชิญกับ “Burnout Syndrome” หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน วันนี้ วิชาการ จะพาทุกท่านมาสำรวจว่า Burnout Syndrome คืออะไร มีสาเหตุจากอะไร และจะป้องกันได้อย่างไรบ้าง ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
Burnout Syndrome คืออะไร? มีอาการอะไรบ้าง?
“Burnout” เป็นอาการของความเครียด อันเนื่องมาจากการทำงานที่ส่งผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ แต่อย่างไรก็ตามภาวะ Burnout ยังไม่ถูกจัดว่าเป็นโรคทางการแพทย์ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า “โรคซึมเศร้า (Depression)” อาจส่งผลให้เกิดอาการ Burnout ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลให้เกิดอาการ Burnout เช่น ลักษณะนิสัยของแต่ละบุคคล, ครอบครัว เป็นต้น
หากภาวะ burnout มีความรุนแรงมากขึ้นและไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะเครียดรุนแรง, อาการเหนื่อยล้า, อาการนอนไม่หลับ, ซึมเศร้า, อารมณ์ฉุนเฉียว, ภาวะพึ่งพาแอลกอฮอล์, โรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, เบาหวานประเภท 2, และ ภูมิคุ้มกันต่ำ
Mayo Clinic สถาบันทางการแพทย์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำชุดคำถามด้านล่าง เพื่อช่วยสำรวจเบื้องต้นว่าคุณกำลังมีอาการ Burnout หรือไม่
- คุณให้ความสำคัญกับเพื่อนร่วมงานน้อยลง และมีความคิดแง่ลบกับที่ทำงานมากขึ้นหรือไม่ ?
- คุณมีความรู้สึกไม่อยากทำงานและรู้สึกว่าการเริ่มทำงานในแต่ละวันนั้นยากขึ้นหรือไม่ ?
- คุณรู้สึกหงุดหงิดกับพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าง่ายขึ้นหรือไม่ ?
- คุณรู้สึกหมดพลังในการทำงานอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ?
- คุณรู้สึกขาดสมาธิในการจดจ่อสิ่งต่าง ๆ หรือไม่ ?
- คุณรู้สึกไม่ภูมิใจกับความสำเร็จของคุณหรือไม่ ?
- คุณรู้สึกว่างานที่คุณทำไม่มีคุณค่าหรือไม่ ?
- ในช่วงที่ผ่านมา คุณใช้การทานอาหารหรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือผ่อนคลาย หรือทำให้อารมณ์ดีขึ้นหรือไม่?
- ในช่วงที่ผ่านมา คุณมีปัญหาหรือมีการเปลี่ยนแปลงกับการนอนของคุณหรือไม่ ?
- ในช่วงที่ผ่านคุณมีอาการปวดหัวโดยไม่ทราบสาเหตุ, ปวดท้อง หรือมีความผิดปกติตามร่างกายหรือไม่ ?
หากคุณตอบ “ใช่” จากคำถามข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น มีความเป็นไปได้ที่คุณอาจจะมีภาวะ Burnout และอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์ เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้
Burnout Syndrome มีสาเหตุจากอะไร ?
มีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดอาการ Burnout ได้แก่
- ไม่มีอำนาจการวางแผนงานตนเอง
- ตำแหน่งงานไม่มีความชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าจะต้องทำงานชิ้นไหนก่อนหรือหลัง
- เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าที่ไม่เป็นมิตร
- งานมีความน่าเบื่อและซ้ำซาก อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายในที่ทำงาน
- มีความรู้สึกโดดเดี่ยวในที่ทำงาน
- ไม่สามารถจัดสรรเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวได้
วิธีรักษาและป้องกัน Burnout Syndrome
- สำรวจตัวเลือกของงานที่มี โดยปรึกษาหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจ เพื่อสำรวจว่างานชิ้นไหนที่เราทำได้ งานชิ้นไหนสามารถให้คนอื่นช่วยได้ เพื่อหาทางออกและประนีประนอมในเรื่องงาน อีกทั้งการตั้งเป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญของงานก็มีส่วนช่วยอย่างมากอีกด้วย
- หาตัวช่วย อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน, เพื่อน หรือคนในครอบครัว ซึ่งอาจจะช่วยให้คำแนะนำหรือให้กำลังใจได้
- หากิจกรรมผ่อนคลาย ลองหากิจกรรมทำเวลาว่าง เช่น วาดภาพ, นั่งสมาธิ, เล่นโยคะ, ว่ายน้ำ, ทำอาหาร เป็นต้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพกายที่แข็งแรงแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำ ยังช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ซึ่งอาจจะเป็นการเล่นกีฬา หรือเข้ายิมก็ได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอ จะช่วยให้เรามีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำได้มากขึ้น
- มีสติอยู่กับปัจจุบัน การมีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องงานจะช่วยให้งานเสร็จได้เร็วขึ้นและทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น เมื่อเทียบกับการทำงานที่มีสิ่งรบกวน หรือการทำงานเวลามีเรื่องกวนใจ
Reference:
- Mayo Clinic. (2565). Job burnout: How to spot it and take action. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565, จาก https://mayocl.in/3VPUPD5
- โรงพยาบาลราชวิถี. (2565). สัญญาณ Burnout Syndrome อาการของคน เบื่องาน หมดไฟ และวิธีจัดการ. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3upUuvh
- นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์. (2565). BURNOUT SYNDROME อย่ารอให้หมดไฟในการทำงาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565, จาก https://bit.ly/3gWZ1lU