ซีเซียม 137 คืออะไร? สัมผัสแล้ว อันตรายแค่ไหน?

       

          ข่าวการหายไปของแท่งซีเซียมที่โรงงานผลิตไฟฟ้า จังหวัดปราจีนบุรี ยังคงสร้างความน่าวิตกกังวลให้กับคนในพื้นที่ แม้เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและไม่พบชาวบ้านที่ป่วยจากการสัมผัสสารรังสีโดยตรง หรือ การปนเปื้อน ในสิ่งแวดล้อม แต่ยังยังมีการเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะ การสัมผัส ซีเซียม 137 ก่อให้เกิดอันตรายได้ วันนี้ วิชาการ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ซีเซียม 137, อาการ วิธีการป้องกัน และแนวทางการบรรเทาอาการเมื่อได้รับรังสี

ซีเซียม 137 คืออะไร

         ซีเซียม 137 เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี ของธาตุซีเซียม มีลักษณะเป็นโลหะอ่อนมาก สีทองเงิน หากอยู่ในอุณหภูมิห้องจะมีสภาพเป็นของเหลว โดยปกติจะทำปฏิกิริยากับคลอไรด์มีลักษณะเป็นผลึกผง ซีเซียม 137 สามารถปล่อยรังสีเบต้า และแกมมา

ประโยชน์ของซีเซียม 137

         ซีเซียม 137 ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลายด้านเช่น ใช้เป็นสารปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี, ให้เป็นแหล่งกำเนิดรังสีแกมมาเพื่อวัดความหนาแน่นของเครื่องมือขุดเจาะน้ำมัน ในทางการแพทย์ ซีเซียม 137 ใช้เป็นแหล่งกำเนิดรังสีในการรักษาโรคมะเร็ง ในเชิงอุตสาหกรรมจะถูกใช้ในเครื่องมือวัดความหนาแน่นของวัสดุ เช่น กระดาษ, แผ่นโลหะ หรือวัดการไหลของของเหลว

รู้จัก 'ซีเซียม-137' สารกัมมันตรังสี ใช้ทำอะไร-อันตรายแค่ไหน  ทำไมต้องตามหาวุ่น

อันตรายจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137

          การได้รับรังสีจากซีเซียม-137 จะก่อให้เกิดอันตรายเมื่อได้รับรังสีในปริมาณที่สูงมากพอ โดยมีหลายกลุ่มอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬารัตน์ แอร์พอร์ต 9 ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการของผู้ได้รับรังสีในปริมาณที่สูงดังนี้

  • ระยะที่หนึ่ง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร สามารถเกิดได้ตั้งแต่ 1ชั่วโมง ถึง 2 วันหลังได้รับรังสี หากปนเปื้อนที่ผิวหนังจะเกิดการอักเสบ แดง มีการหลุดลอกของผมหรือขนจะหลุดร่วง อาจจะมีถุงน้ำและแผลอักเสบเกิดขึ้นได้
  • ระยะที่สอง เซลล์ต้นกำเนิดในไขกระดูก และเยื่อบุอาหารตายไปเรื่อย ๆ ระยะนี้จะเป็นตั้งแต่ 7 วันแรกถึง 40 วันหลังได้รับรังสี แต่ผู้ป่วยอาจจะยังดูปกติ หรือไม่มีอาการ
  • ระยะที่สาม มีอาการเบื่ออาหาร มีไข้ อ่อนเพลีย จากปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดทั้งหมด ลดระดับลง และเสียชีวิตในเวลา 2-3 เดือน
  • ระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยจะหายจากภาวะที่ไขกระดูกโดนกดได้หากไม่ได้รับรังสีมากเกินไป โดยจะดีขึ้นได้ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป

ข้อควรปฏิบัติหลังการสัมผัส ซีเซียม 137

  1. ลดการปนเปื้อน ด้วยการให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตาด้วยน้ำสะอาด ล้างมือ อาบน้ำ สระผม และเปลี่ยนเสื้อผ้า ใส่ถุงปิดปากให้สนิทเพื่อตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่
  2. ไปลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
  3. ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย

โลกโซเซียล ตื่นกัมมันตรังสี "ซีเซียม-137"  นักวิชาการห่วงฝุ่นผงฟุ้งกระจาย-แนะยาแก้พิษ : อินโฟเควสท์

การป้องกันและการปฏิบัติตน

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสีหรือภาชนะต้องสงสัย
  2. ลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสียังหน่วยงานที่กำหนด หากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยง
  3. รวบรวมสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบก่อนนำไปใช้
  4. ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม
  5. ติดตามข้อมูลสถานการณ์เหตุ และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด
  6. อย่างไรก็ตาม ให้สังเกตอาการและควรพบแพทย์ เมื่อมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเหลวมากเกินกว่า 2 ครั้ง มีไข้ หนาวสั่น ชักเกร็ง มีเลือดออกที่ใดที่หนึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์หลังโดนรังสี หรือมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137

Reference:

  • Hfocus.  (2566).  ซีเซียม 137 คืออะไร สารกัมมันตรังสี อันตรายแค่ไหน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3LVS5Cr
  • โรงพยาบาลจุฬารัตน์ แอร์พอร์ต 9.  (2566).  เรื่องที่ต้องรู้ ของซีเซียม-137.  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/3TNnBVm
  • ไทยรัฐออนไลน์.  (2566).  สรุปไทม์ไลน์ซีเซียม-137 หายปราจีนฯ เทียบข่าวโคบอลต์-60 สมุทรปราการ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566, จาก https://bit.ly/42KUvd1

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general