10 พฤติกรรม Cyberbullying ที่เราต้องรู้ ! พร้อมวิธีรับมือ


 
         จากการเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต สื่อในโลกออนไลน์และแพลตฟอร์มทางโซเชียลต่าง ๆ หลายคนใช้พื้นที่ดังกล่าวในการระบายอารมณ์ ความรู้สึกทางความคิดด้านลบ โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา ดังข่าวดังใน ปี 2019 “ซอลลี่” ไอดอลสาวชาวเกาหลีเสียชีวิตลง จากการตกเป็นเหยื่อ “Cyberbullying” จากคอมเม้นลบ ๆ ที่ถาโถมใส่เธอไม่หยุด จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า และจบชีวิตตัวเอง Cyberbullying ยังมีอีกหลายรูปแบบ วิชาการ จะพามาทำความรู้จักทั้ง 10 พฤติกรรมที่เราควรรู้ เพื่อพร้อมในการรับมือ

“Cyberbullying” คืออะไร ?

            Cyberbullying คือ การระรานทางไซเบอร์ ซึ่งหมายถึง การกลั่นแกล้ง ให้ร้าย ล้อเลียน ระรานบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์หรือพิมพ์ด่าว่ากล่าว แต่งเรื่องราวหลอกลวงให้ผู้อื่นเสียหาย หรือการตัดต่อภาพหรือคลิป VDO ที่ส่อถึงการเจตนาล้อเลียน รวมถึงการสวมรอยเป็นผู้อื่นบนโลกออนไลน์

สาเหตุของ “Cyberbullying” มีอะไรบ้าง ?

           สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งมีปมในอดีต ความเกลียดชัง อิจฉา และจงใจที่จะทำให้บุคคลดังกล่าวเกิดความเสียหาย อับอายบนโลกออนไลน์ เพื่อความสะใจแล้วหายไป รวมถึงการจงใจตามคุกคามเป็นระยะเวลานาน ๆ แบบล็อกเป้าหมายจนกว่าจะพอใจ ซึ่งการคุกคามนี้ก็มี 10 พฤติกรรม ดังนี้

1. การแกล้งแหย่ (Trolling)

           การใช้ถ้อยคำล้อเลียน ดูถูก เหยียดหยามคนอื่นให้ได้รับความอับอาย หรือยุยงให้โกรธ หรือโต้ตอบโต้ด้วยความรุนแรง

2. เผยแพร่ความลับ (Outing)

             การนำข้อมูล หรือความลับ ภาพ หรือวิดีโอส่วนตัวของผู้อื่นมาเผยแพร่สู่โลกออนไลน์ เพื่อให้ได้รับความอับอาย

3. การใส่ความ (Dissing)

            มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อทำให้ผู้อื่นเสียหาย อับอายหรือกลายเป็นตัวตลก

4. การล่อลวง (Trickery)

           มีการหลอกล่อให้ผู้อื่นเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหรือความลับที่น่าอาย แล้วนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์

5. การแอบอ้าง (Fraping)

             มีการแอบเข้าใช้บัญชีสื่อออนไลน์ของผู้อื่นแล้วโพสต์ข้อความ หรือรูปภาพที่สร้างความอับอายให้กับเจ้าของ

6. การปลอมบัญชี (Fake Profiles)

            สร้างบัญชีปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกล่อ กลั่นแกล้งหรือล้อเลียนผู้อื่นให้ได้รับความอับอายในสื่อออนไลน์

7. ขโมยอัตลักษณ์ดิจิทัล (Catfish)

             ขโมยภาพของผู้อื่นแล้วนำไปสร้างตัวตนใหม่ เพื่อหวังผลในการหลอกลวง หรือกลั่นแกล้งผู้อื่น

8. การกีดกันผู้อื่นออกจากกลุ่ม (Exclusion)

            ลบ บล็อก หรือกีดกันผู้อื่นไม่ให้เข้ากลุ่มในสังคมออนไลน์ เช่น สร้างกรุ๊ปไลน์เพื่อนินทาว่าร้ายบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นต้น

9. ก่อกวน คุกคาม (Harassment)

            มีการส่งข้อความก่อกวนหรือคุกคาม ข่มขู่ผู้อื่นซ้ำๆ เพื่อสร้างความรำคาญหรือหวาดกลัว

10. การข่มขู่ผ่านดิจิทัล (Cyberstalking)

              ส่งข้อความข่มขู่ว่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ได้รับความเสียหาย หรือจะทำร้ายร่างกาย รวมถึงการหวังผลในทางอนาจาร

สัญญาณของการกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์

  • อารมณ์เสียระหว่างหรือหลังการใช้อินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์
  • เป็นความลับหรือปกป้องชีวิตบนโลกดิจิตอลของคน ๆ หนึ่ง
  • ถอนตัวจากสมาชิกในครอบครัว เพื่อน และกิจกรรมต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการพบปะในโรงเรียนหรือแบบกลุ่ม
  • “แสดงออก” ด้วยความโกรธต่อที่บ้านและคนรอบต้ว
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ พฤติกรรม การนอนหลับ หรือความอยากอาหาร
  • ต้องการหยุดใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ
  • เป็นกังวลหรือตกใจเมื่อได้รับข้อความตอบโต้ทันที ข้อความด่วน หรืออีเมล
  • หลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ

การรับมือการบูลลี่ทางไซเบอร์

            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้คำแนะนำในการรับมือกับการบูลลี่ทางไซเบอร์ ด้วยหลักการ 5 ข้อ ดังนี้

  1. Stop : หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
  2. Block : ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
  3. Tell : บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
  4. Remove : ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
  5. Be Strong : เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ

          Cyberbullying อาจจะยังมีในโซเชียล ซึ่งเราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งหมด ดังนั้นการเรียนรู้ และการตั้งรับในการป้องกันตัวเองและ สามารถให้คำแนะนำคนใกล้ชิดไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying และรู้วิธึการป้องกันน่าจะเป็นทางเลือกที่เราสามารถทำได้

 

 

Reference:

  • พิชยา พูลสวัสดิ์ .  (2564).  Cyberbullying.  สืบค้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566, จาก https://9va6.short.gy/QK9u9F
  • Fillgoods.  (2564).  Cyberbullying คืออะไร วิธีรับมือการกลั่นแกล้งและระรานบนไซเบอร์แบบอยู่หมัด.  สืบค้นเมื่อวันที่ 31สิงหาคม 2566, จาก https://9va6.short.gy/MziZxY
  • Amnesty International Thailand.  (2564).  การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์.  สืบค้นเมื่อวันที่ 31สิงหาคม 2566, จาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/879/

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general