SPF, PPD, PA ในครีมกันแดด สารกันแดดที่จำเป็นต่อผิว?

          แดดในเมื่องไทยร้อนระดับ 40-50 องศาก็มีมาแล้ว ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่สาวไทย จะมีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังมากขึ้น อันเนื่องมาจากรังสี UV (Ultra Violet) ที่พบในแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นรังสี UVA หรือรังสี UVB ที่เป็นรู้กันว่ามีผลเสียและเป็นอันตรายต่อผิวของเรา หากสัมผัสเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ การใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องรังสีจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน รังสีอันตรายต่อเราทุกคนได้อย่างไร ก่อนอื่นควรรู้ข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้

ข้อแตกต่างของรังสี UVA และ UVB

  • UVA ทำให้ผิวเกิดริ้วรอย เหี่ยวย่น เนื่องจากว่ารังสีนี้มีความสามารถในการทะลุผ่านผิวหนังถึงชั้นหนังแท้ เข้าไปทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจนและเส้นใยอิลาสติก
  • UVB มีผลทำให้ผิวแดง ผิวคล้ำ ไปจนถึงลอก และเกิดอาการไหม้ จนถึงอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งผิวหนังได้

การวัดค่าการปกป้องผิวจากรังสี

  • PA (Protection Grade of UVA) คือค่าป้องกัน UVA ค่า PA มักจะมีค่า + ต่อท้าย 1 ยิ่งมีค่า + มากเท่าไหร่ หมายความว่า สารกันแดดนั้นมีประสิทธิภาพการป้องกันรังสี UVA ได้มากขึ้นเท่านั้น (ค่าสูงสุดในปัจจุบันจะอยู่ที่ PA++++) พบเห็นได้ในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากญี่ปุ่น
  • PDD (Persistent Pigment Darkening) ค่าที่บอกว่าสารกันแดดจะช่วยป้องกันรังสี UVA ได้มากกว่าปกติกี่เท่า มักจะพบอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศยุโรป
  • SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่ามาตรฐานที่ใช้ในการวัดค่าการป้องกันรังสี UVB โดยวิธีการเลือกกันแดดด้วย SPF ขึ้นกับกิจกรรมที่เราต้องเผชิญแสงแดดในแต่ละวัน

          ยกตัวอย่าง หากครีมกันแดดมีค่า SPF50 หมายถึงครีมกันแดดนั้นสามารถป้องกันรังสี UVB ได้มากกว่าปกติ 50 เท่า ปกติหากเราตากแดด 15 นาที ผิวหนังเริ่มไหม้แล้วแสบแดง การใช้ครีมกันแดดที่มี SPF50 เราจะสามารถอยู่กลางแดดได้มากกว่าเดิม 50 เท่า นั่นคือ 750 นาที หรือประมาณ 12 ชั่วโมง นั่นเอง

          ครีมกันแดด (Sunscreen) คือผลิตภัณฑ์ทาผิวที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการปกป้องผิวจากแสงแดดที่เป็นแหล่งของรังสี UVA UVB ที่เป็นสาเหตุทำให้ผิวหน้า ผิวเสื่อมสภาพ มีริ้วรอย, เหี่ยวย่น, หมองคล้ำ, หยาบกร้าน, เกิดกระฝ้า, แลดูแก่กว่าวัย

คุณสมบัติกันรังสีในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ประเภท

  1. Physical Sunscreen มักถูกเรียกว่า Sun Block ทำหน้าที่สะท้อนหรือหักเหรังสีออกไปจากผิว สารเหล่านี้มีอนุภาคค่อนข้างใหญ่ จะเคลือบอยู่บนผิวไม่สามารถซึมลงผิวได้ กรณีทาที่บริเวณผิวหน้าจะทำให้หน้าแลดูวอกขาว มีความเหนอะหนะ แต่ด้วยคุณสมบัติที่ไม่ซึมลงผิวนี้เองจึงไม่พบปัญหาเรื่องอาการแพ้มากนัก ดังนั้นจึงเป็นประเภทครีมกันแดดที่เหมาะกับคนแพ้ง่าย ส่วนใหญ่มักพบในกันแดดแบบทาตัว
        • Titanium Dioxide, Zinc Oxide ป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB
  2. Chemical Sunscreen ทำหน้าที่ในการดูดซับรังสีไม่ให้ทะลุลงไปยังผิวหนัง มีจุดเด่นในเรื่องการป้องกัน UV ได้ เพราะสามารถดูดซับรังสีได้ทั้งหมด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และมีความบางเบา จึงนิยมนำมาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับผิวหน้ามากกว่าประเภทอื่น รูปแบบในท้องตลาดมีตั้งแต่ น้ำ, สเปรย์, มูส, เจล, โลชั่น และครีม เป็นต้น แต่ด้วยคุณสมบัติของการที่สารซึมลงไปในชั้นผิวหนังนั้นอาจก่อให้เกิดการแพ้ในบางท่านได้
        • Benzophenone, Ecamsules สามารถดูดซับรังสี UVA ได้
        • Cinnamate, Salicylate ที่การดูดซับรังสี UVB
        • Anthranilate ดูดซับได้ทั้ง UVA และ UVB
  3. Hybrid Sunscreen สารกันแดดแบบผสมระหว่าง Physical และ Chemical ทำหน้าที่ทั้งสะท้อนรังสีและดูดซับรังสี
        • Bis-Bensotriazolyl Tetramethylbutylphenol (Tinosorb M), Terephthalylidene Dicamphor Sulfonic Acid สามารถป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB

 

          ด้วยคุณสมบัติที่มีหลากหลาย มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เราควรต้องศึกษาเลือกประเภทของครีมกันแดดตามลักษณะการใช้งานให้เหมาะสมตามกิจกรรมที่เราทำในแต่วัน แม้ว่าการใช้ครีมกันแดดจะมีผลในการป้องกันรังสีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันรังสียูวีได้ร้อยปอร์เซนต์ ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดที่แรงเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคผิวหนังที่จะตามมา

 


Reference:

  • พญ. พีรธิดา รัตตกุล.  (2562).  เจาะลึกสารกันแดด ยุค 4.0.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3ucllen
  • นศภ. ชุติมณฑน์ อุดมเกียรติกูล.  (2558).  ผลิตภัณฑ์กันแดดปกป้องผิวอย่างไร?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3a9bpf1 
  • องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ.  (2564).  สารกันแดดที่เราใช้กัน…ปกป้องผิวของเราได้ยังไงนะ?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3AeOSIt


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general