อาชีพรับราชการเป็นความใฝ่ฝันของใครหลาย ๆ คน ซึ่งการรับราชการสำหรับบ้านเรานั้น คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นอาชีพที่มีสิทธิ สวัสดิการ และความมั่นคงต่อตนเองและครอบครัว เมื่อเข้ารับราชการแล้ว สิทธิที่ข้าราชการได้รับอย่างหนึ่งคือ บำเหน็จ บำนาญข้าราชการ สำหรับผู้ที่สนใจในอาชีพรับราชการคงสงสัยกันว่าแล้วต้องรับราชการกี่ปีถึงจะได้รับบำเหน็จบำนาญ บทความนี้มีสาระดี ๆ เกี่ยวกับบำเหน็จบำนาญข้าราชการมาให้ทุกคนได้อ่านกัน
ความหมายของบำเหน็จบำนาญ
- บำเหน็จ คือเงินตอบแทนข้าราชการที่ได้รับเป็นก้อน (ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล)
- บำนาญ คือเงินตอบแทนข้าราชการที่จ่ายเป็นรายเดือน (ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล)
ประเภทของบำเหน็จบำนาญ
1. บำเหน็จบำนาญปกติ
- สำหรับผู้ที่ได้รับจะต้องมี 4 เหตุ เหตุทดแทน, เหตุทุพพลภาพ, เหตุสูงอายุ, เหตุรับราชการนาน
2. บำเหน็จบำนาญพิเศษ
- สำหรับผู้ที่ได้รับคือข้าราชการที่พิการหรือทุพพลภาพ ขณะปฏิบัติหน้าที่และให้ทายาทกรณีเสียชีวิต
3. บำเหน็จตกทอด
- สำหรับทายาทผู้รับราชการหรือผู้รับบำนาญที่ถึงแก่กรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
4. บำเหน็จดำรงชีพ
- สำหรับผู้รับบำนาญเพื่อช่วยเหลือในการดำรงชีพ
เวลาราชการกับการรับบำเหน็จบำนาญ
1. เหตุสูงอายุ
- กรณีเกษียณอายุ 60 ปีบริบูรณ์/อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปสมัครใจลาออก
- เวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ
- เวลาราชการตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับ บำเหน็จ
2. เหตุรับราชการนาน
- กรณีอายุไม่ถึง 50 ปี สมัครใจลาออก
- เวลาราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ
- เวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปี ได้รับบำเหน็จ
3. เหตุทุพพลภาพ
กรณีข้าราชการป่วย แพทย์รับรองว่าไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ได้ ข้าราชการมีสิทธิลาออกหรือราชการสั่งให้ออกได้
- เวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ
- เวลาราชการตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับบำเหน็จ
4. เหตุทดแทน
กรณีให้ออกเนื่องจากเลิก ยุบตำแหน่งหรือทหารออกจากกองหนุนเบี้ยหวัด
- เวลาราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ
- เวลาราชการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับบำเหน็จ
วิธีการคำนวณบำเหน็จบำนาญ
การนับเวลาราชการมีด้วยกันอยู่ 2 แบบ
1. แบบเวลาราชการปกติ
วันที่เริ่มต้นรับราชการวันแรก จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงินเดือน
2. แบบเวลาราชการทวีคูณ
วันที่ปฏิบัติราชการที่มีเฉพาะ โดยนับเป็น 2 เท่าของเวลาราชการปกติ
ราชการที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น มีการรบ, สงคราม, จลาจล
การคำนวณบำเหน็จบำนาญทั้ง 4 ประเภท
1. บำเหน็จบำนาญปกติ
กรณีไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.
- บำเหน็จ= เงินเดือนสุดท้าย × เวลาราชการทั้งปกติและทวีคูณ
- บำนาญ = เงินเดือนสุดท้าย × เวลาราชการทั้งปกติและทวีคูณ ÷ 50
ซึ่งต้องไม่เกินเงินเดือนสุดท้าย
กรณีเป็นสมาชิก กบข.
- บำเหน็จ = เงินเดือนสุดท้าย × เวลาราชการทั้งปกติและทวีคูณ
- บำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย × เวลาราชการทั้งปกติและทวีคูณ ÷ 50
ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ทั้งบำเหน็จและบำนาญ กรณีเป็นสมาชิกกบข. จะได้รับเพิ่มในส่วนของเงินสะสม เงินสมทบ, เงินชดเชย, เงินประเดิม และผลประโยชน์ตอบแทนจาก กบข.
2. บำเหน็จดำรงชีพ
เงินบำนาญรายเดือน × 15
แต่ต้องไม่เกิน 400,000 รับก่อนอายุ 65 ปี ไม่เกิน 200,000 ส่วนที่เหลือรับหลังอายุ 65 ปี
3. บำเหน็จตกทอด
กรณีข้าราชการถึงแก่กรรม
- บำเหน็จตกทอด = เงินเดือนสุดท้าย × เวลาราชการทั้งปกติและทวีคูณ
กรณีผู้รับบำนาญถึงแก่กรรม
- บำเหน็จตกทอด = เงินบำนาญ × 30
ต้องหักบำเหน็จดำรงชีพที่รับไปแล้วออกด้วย
4. บำนาญพิเศษ
กรณีถึงแก่กรรม
- เงินเดือน + เงินเพิ่มพิเศษ × 3
เงินเพิ่มพิเศษ เช่น ค่าวิชา, ค่าตำแหน่ง, การปราบปรามการกระทำผิด, การสู้รบ
กรณีทุพพลภาพ
- พิจารณาตามความเหมาะสม
จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นคงเป็นประโยชน์กับผู้ที่เข้ามาอ่านบทความ เพื่อใช้ในการวางแผนและประกอบการตัดสินใจในการเลือกรับบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ แล้วคิดคำนวณบำเหน็จ บำนาญไว้ในใจคร่าว ๆ ก่อนเกษียณราชการหรือลาออกจากราชการ
Reference:
- กรมบัญชีกลาง. (2565). พรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ 2494. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3clJA3J
- สุทัศน์ ภูมิภาค. (2562). รับราชการกี่ปี จึงมีสิทธิรับบำเหน็จ/บำนาญ ข้าราชการต้องอ่านที่นี่. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3RDXYol
- suthatpoom. (2563). สูตรคํานวณบํานาญข้าราชการ เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ ทั้งที่เป็นสมาชิก กบข. และไม่ได้เป็นสมาชิก กบข. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3RDla5Y