ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราคงจะได้ยินข่าวเรื่องการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และสังเกตได้ว่าข้าวของมีราคาแพงขึ้น จนหลายคนต้องรัดเข็มขัดความคุมค่าใช้จ่าย หรือหางานเสริมทำกันเลยทีเดียว วันนี้ทาง วิชาการ จึงได้ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ เพื่อมาแชร์ให้กับทุกท่านได้ทำความเข้าใจ และรู้วิธีรับมือกับเงินเฟ้อกัน
เงินเฟ้อคืออะไร
หากจะอธิบายง่าย ๆ เงินเฟ้อ (Inflation) คือสภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการสูงขึ้น ซึ่งหากมองในอีกมุมหนึ่งก็คือ อำนาจในการซื้อที่ลดลง ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น เงิน 40 บาท เมื่อสิบปีก่อนซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 2 ชาม (ชามละ 20 บาท) แต่ในปัจจุบันสามารถซื้อเพียง 1 ชาม (ชามละ 40 บาท) หรือไม่ก็อาจจะซื้อก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เลย จะเห็นได้ว่าปริมาณเงินที่เท่ากันแต่มีความสามารถในการซื้อสินค้าแตกต่างกัน
สาเหตุเกิดจากอะไร
ปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลให้เกิด ภาวะเงินเฟ้อคือปริมาณเงินหมุนเวียนที่มีมากขึ้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ได้จำแนกประเภทของ เงินเฟ้อไว้ 2 ประเภทดังนี้
- Cost-push Inflation เป็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจาก ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น เช่น ค่าแรง, ค่าน้ำมัน, หรือค่าวัตถุดิบ ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- Demand-pull Inflation เกิดจากผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ามากขึ้น (Demand) แต่กำลังการผลิตเพิ่มไม่ทัน ส่งให้ราคาสินค้าสูงตามไปด้วย
การที่เงินเฟ้อผันผวนมากส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ ทำให้คนต้องสำรองเงินมากขึ้นเผื่อเวลาสินค้าแพง และพนักงานต้องขอขึ้นค่าแรง ส่งผลให้บริษัทมีกำไรลดลง
ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างไร
เงินเฟ้อ ราว ๆ 1-2 % ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สินค้าราคาแพงขึ้นเจ้าของกิจการได้กำไรมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ขยายกิจการ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน และทำให้คนมีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลดีกลับมายังกิจการซึ่งมีกำไรมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเงินเฟ้ออ่อน ๆ ทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวได้ดี แต่ในอีกกรณีหนึ่งหากอัตราเงินเพิ่มเฟ้อขึ้นอย่างรวดเร็ว (Hyper Inflation) จะส่งผลให้มีการใช้จ่ายน้อยลง บริษัทห้างร้านก็จะมีกำไรน้อยลงหรือขาดทุน อาจจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอย ในทางกลับกันที่ภาวะเงินเฟ้อต่ำมากหรือเงินฝืด (Deflation) ราคาสินค้าจะถูกลงมาก และอำนาจในการซื้อของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกำไรลดลง
ข้อดี สามารถขายทรัพย์สินได้ในราคาสูง เช่น บ้าน, ที่ดิน, ทองคำ ในส่วนของหุ้นและกองทุนของบางบริษัทอาจจะได้รับอานิสงส์จากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ข้อเสีย สามารถซื้อสินค้าได้น้อยลง หรืออีกนัยหนึ่งคือซื้อของแพงขึ้น ทำให้ต้องมีเงินสำรองเก็บมากขึ้นเพื่อใช้จ่าย
เราควรรับมือกับเงินเฟ้ออย่างไร
- วางแผนการออมเงิน เพราะการลงทุนในช่วงเงินเฟ้อก็มีความเสี่ยงมากกว่าช่วงเวลาปกติ อาจจะเป็นบัญชีเงินฝากประจำที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นมาหน่อย หรือจะเป็น E-saving ที่ให้ดอกเบี้ยราว ๆ 1.5-2.0 % อาจจะฝากเป็นก้อนหรือทยอยฝากรายเดือนก็ได้
- ใช้จ่ายอย่างประหยัดมากขึ้น หลายคนที่เงินขึ้นไม่ทันเงินเฟ้อ จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยน Lifestyle เช่น อาจจะทำอาหารที่บ้านมากขึ้น, นั่งรถโดยสารสาธารณะบ่อยขึ้น, และออกทริปเที่ยวสถานที่ใกล้ ๆ เป็นต้น การลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น อาทิ ของแบรนด์เนม, ทริปต่างประเทศ หรือ Dinner สุดหรูเป็นส่วนสำคัญในการลดภาระทางการเงินในช่วงเงินเฟ้อ ซึ่งการบันทึก รายรับ-รายจ่าย ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยให้เราควบคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดี
- หารายได้เสริม เป็นช่องทางในการเพิ่มรายได้ เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายที่สูงขึ้นในช่วงเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็น การรับงานแปลเอกสาร, ทำขนม, ขายของออนไลน์, ขายงาน Art, หรือเป็นติวเตอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพเสริมที่มีต้นทุนที่ต่ำ สร้างกระแสเงินสด แถมบางอย่างสามารถทำได้ที่บ้านอีกด้วย
Reference:
- JASON FERNANDO. (2565). What you need to know about the purchasing power of money and how it changes. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/2moZU6T
- Krungsri The COACH. (2565). เงินเฟ้อ ทำทุกอย่างแพง รับมืออย่างไรดี?. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3fcuIXy
- Moneybufflo. (2565). เงินเฟ้อ คืออะไร ? ส่งผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3DfgnRY