ความหมายและความสำคัญของคำว่า “กลยุทธ์”

          เมื่อนึกถึงคำว่า “กลยุทธ์” บางท่านอาจจะมุ่งเน้นไปทางด้านการบริหารกันเสียส่วนใหญ่ บทความนี้ วิชาการ จะพามาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับคำว่า “กลยุทธ์” ให้มากขึ้น ว่ามีความหมายอย่างไรและสามารถใช้กลยุทธ์ในด้านใดได้บ้าง ไปดูรายละเอียดกันได้เลย  

ความหมายของคำว่า “กลยุทธ์”

          กลยุทธ์ (Strategy) หมายถึง แนวทาง แผนการ ที่ทำมาใช้เพื่อให้เกิดการกระทำ ที่นำมาทำให้หน่วยงานหรือองค์กรบรรลุตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้

ความสำคัญของกลยุทธ์

           ความสำคัญของกลยุทธ์ คือ จำเป็นต้องตอบคำถามว่าเราทำไปเพื่ออะไร (What) เราอยู่ที่จุดไหน (Where) และเราจะไปสู่จุดนั้น ๆ ได้อย่างไร (How) ซึ่งกลยุทธ์ถูกนำมาใช้ในการตอบคำถามหลัก ๆ 2 ข้อ ได้แก่

  1. องค์กรแข่งขันที่ไหน (Where to complete) : เพื่อที่จะได้รู้ว่าองค์กรจะดำเนินการเติบโตอย่างไร ไปจนถึงประสบความสำเร็จได้อย่างไร
  2. องค์กรจะสามารถเข้าไปแข่งขันได้อย่างไร ต้องมีวิธีการอย่างไร (How to complete) : เพื่อที่จะสร้างความแตกต่าง รวมถึงความน่าสนใจต่อลูกค้าได้

          กลยุทธ์มีความสำคัญในการวางแผนที่จะนำทางไปสู่ความสำเร็จและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กร ช่วยให้ธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่งทางการค้า เนื่องจากกลยุทธ์ช่วยกำหนดทิศทาง วัตถุประสงค์ในการทำงานให้บรรลุสู่จุดมุ่งหมาย การกำหนดวิสัยทัศน์หรือเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งเป้าหมายระยะสั้นหรือระยะยาว ช่วยป้องกันการเสียเวลา รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย

ระดับของกลยุทธ์

(อ้างอิงจาก Kenneth Andrews ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)

  1. ระดับองค์กร (Corporate Strategy) คือ การมองภาพรวม กลยุทธ์ระดับนี้นำมาใช้เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายหลักขององค์กร หลัก ๆ ที่มักจะเห็นกัน เช่น การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) เป็นต้น มักจะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารองค์กรที่เป็นผู้รับผิดชอบในการกำหนดกลยุทธ์นี้
  2. ระดับธุรกิจ (Business Strategy) คือ การสร้างจุดแข็งในการดำเนินการด้านธุรกิจ นั่นก็เพื่อให้องค์กรบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการจัดสรรทรัพยากรบุคคล การสร้างความแตกต่างของกับคู่แข่งทางการค้า รวมไปถึงการวิเคราะห์ SWOT การหาจุดอ่อน จุดแข็ง อุปสรรคของการดำเนินการธุรกิจว่ามีอะไรบ้าง อาจจะต้องนำกลยุทธ์ในระดับองค์กรมาใช้ในการระบุแผนการดำเนินงาน
  3. ระดับปฏิบัติการ (Operational หรือ Functional Strategy) ถือว่าเป็นระดับที่มีความสำคัญและผู้เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กร โดยกลยุทธ์ระดับนี้นำมาใช้ในการพัฒนาการทำงานของพนักงานภายในองค์กร ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละหน้าที่ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภายในและทีมงานต่างๆ และต้องมีการประเมินและวัดผลได้

องค์ประกอบของกลยุทธ์

  • ต้องมีความสำคัญกับองค์กร
  • มีการกำหนดขอบเขตหรือทิศทางขององค์กรที่ชัดเจน
  • ต้องประกอบไปด้วยสิ่งที่องค์กรต้องทำ เพื่อให้บรรลุต่อทิศทางนั้น
  • ต้องสามารถตอบคำถามได้ว่า “อะไรคือสิ่งที่องค์กรจะต้องทำ”
  • ต้องสามารถตอบคำถามได้ว่า “อะไรคือผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ และทำอย่างไรถึงจะบรรลุสิ่งนั้น”
  • มีถ้อยคำที่ชัดเจน
  • มีเป้าหมายในระยะยาวที่ชัดเจน
  • แสดงถึงการแข่งขันในองค์กร

เครื่องมือทางกลยุทธ์ (Strategic Tools)

            เครื่องมือทางกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมทางกลยุทธ์สามารถพบได้บ่อย ได้แก่

  • การวิเคราะห์ SWOT : ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายใน
  • การวิเคราะห์ Five Forces : ใช้ในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการแข่งขัน
  • การวิเคราะห์ PESTEL : เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมาย

          ซึ่งกว่าที่องค์กรแต่ละองค์กรจะกลั่นกรองความคิดออกมาเป็นกลยุทธ์ออกมาได้นั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจสิ่งแวดล้อม บริบทต่าง ๆ ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นทั้งในและนอกองค์กร ผ่านการวิเคราะห์ดังที่กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จบรรลุจุดประสงค์ที่กำหนดไว้นั่นเอง

 


Reference:

  • พสุ เดชะรินทร์.  (2566).  กลยุทธ์.   สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566, จาก https://shorturl.at/quB03
  • Bluebik.  (2565).  Strategy level ระดับกลยุทธ์ทั้ง 3 ระดับ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566, จาก https://bluebik.com/th/blogs/3027
  • Popticles.com.  (2563).  รู้จักคำว่า กลยุทธ์ (Strategy) และระดับของกลยุทธ์.  สืบค้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566, จาก https://www.popticles.com/business/type-of-strategy/

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general