สมุนไพรเป็นหนึ่งในทางเลือกของการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และเชื่อว่าหลายคนคงจะคุ้นเคยกันดีกับชื่อของสมุนไพรรากสามสิบ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยามากมาย ที่นิยมนำมาผสมเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารเสริมบำรุงร่างกายสำหรับสตรีวัยหมดประจำเดือน ที่มีอาการผิดปกติ เนื่องจากขาดประจำเดือน
รากสามสิบ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Asparagus racemosus Willdเป็นพืชในวงศ์เดียวกับหน่อไม้ฝรั่ง แต่จัดอยู่ในวงศ์ย่อยที่มีชื่อว่า ASPARAGOIDEAE มีต้นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น
รากสามสิบ เป็นสมุนไพรที่มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น สามร้อยราก (กาญจนบุรี),ผักหนาม (นครราชสีมา), ผักชีช้าง (หนองคาย), จ๋วงเครือ (ภาคเหนือ), เตอสีเบาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), พอควายเมะ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), นอกจากนี้ ยังนิยมเรียกติดปากว่า ว่านรากสามสิบ, ว่านสามสิบ, ว่านสามร้อยราก, สามร้อยผัว, สาวร้อยผัว, ศตาวรี เป็นต้น
ลักษณะของรากสามสิบ
รากสามสิบ มีลักษณะเป็นไม้เถาเนื้อแข็งเลื้อยพันต้นไม้อื่นด้วยหนามสามารถเลื่อยปีนต้นไม้อื่นได้สูงประมาณ 1.5-4 เมตร และแตกแขนงเป็นเถาห่าง ๆ ลำต้นมีสีเขียวแกมเหลือง เถามีลักษณะเล็กเรียว เรียบ ลื่นเป็นมัน รากสามสิบเป็นพืชที่มีรากเหง้าในดิน แตกรากเหง้าเป็นกระจุกลักษณะคล้ายรากกระชาย นอกจากนี้ยังเป็นพืชสมุนไพรใบเดี่ยวแข็งมีสีเขียว มักออกใบรอบข้อเป็นฝอยคล้ายหางกระรอก ออกดอกเป็นช่อมีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร และจะออกดอกบริเวณปลายกิ่งหรือซอกใบและข้อเถา ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนประมาณ 12 – 17 ดอก ขณะเดียวกันรากสามสิบยังมีผลรูปทรงค่อนข้างกลม ผิวมีลักษณะเรียบมัน ผลอ่อน ๆ จะเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีแดง แดงอมม่วง และจะออกผลช่วงเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ปัจจุบันสามารถพบรากสามสิบในป่าเขตร้อนชื้น แห้งแล้ง ผลัดใบ หรือป่าโปร่งตามภูเขาหินปูน เช่น ประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา ชวา จีน มาเลเซีย และออสเตรเลีย เป็นต้น
สรรพคุณของรากสามสิบ
รากสามสิบ มีสรรพคุณมากมายและมีสารในกลุ่ม Steroidal Saponins ซึ่งเป็นสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในมนุษย์ จึงนิยมนำ “ราก” มาทำยา โดยมีสรรพคุณทางยาดังต่อไปนี้
- บรรเทาอาการท้องเสีย
- อาหารไม่ย่อย ช่วยขับลม
- ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- แก้ริดสีดวงทวาร
- ต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวต่
- เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะเพิ่มอินซูลินในเลือดและตับอ่อน
- กระตุ้นน้ำนมและบำรุงน้ำนม
- ลดระดับน้ำตาลในเลือดและไขมัน
- ลดความดันโลหิต
- ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง
- เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- บำรุงหัวใจ ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- รักษาอาการผิดปกติในสตรีวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ผิวหนังหยาบกร้าน หย่อนยาน ความจำสั้น รวมถึงโรคกระดูกพรุน
- แก้ไอ
- เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
- ลดการอักเสบ
- แก้อาการปวด
วิธีรับประทานรากสามสิบเพื่อดูแลสุขภาพ
เนื่องจากรากสามสิบมีรสเย็นจึงนิยมนำมาต้มดื่มเป็นยา หรือจะนำรากมาตากแห้งบดเป็นผงปั้นเป็นก้อนเป็นยาลูกลอนกินกับน้ำผึ้งก็สามารถทำได้เช่นกัน ขณะที่ผลของต้นสามสิบมักนำมาปรุงเป็นยาแก้พิษไข้ผสมกับผลราชดัดช่วยลดพิษไข้ได้ดี นอกจากนำรากมาต้มดื่มเป็นยาแล้ว ยังสามารถนำผลอ่อนและใบสามสิบมาเป็นส่วนประกอบของเมนูอาหารคาว หวานได้อีกด้วย เช่น แกงเผ็ดลูกสามสิบ นำใบมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริก หรือจะนำรากสามสิบมาแช่อิ่มก็ได้เช่นกัน ล้วนมีสรรพคุณทางยาและบำรุงร่างกายได้ดี
ขณะเดียวกัน รากสามสิบมิได้เป็นสมุนไพรที่ดีสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังดีสำหรับผู้ชายอีกด้วย โดยผู้ชายนิยมนำมาดองเหล้าดื่มเพื่อเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้กระชุ่มกระชวยและกระปรี้กระเปร่า หรือจะนำมาต้มให้แม่วัวกินเพื่อบำรุงน้ำนมก็ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารากสามสิบจะมีสรรพคุณทางยามากมาย แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้รากสามสิบเช่นกัน เพราะรากสามสิบมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงห้ามนำมาใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม เนื้องอกมดลูก เนื่องจากจะยิ่งช่วยกระตุ้นให้มะเร็งและเนื้องอกเจริญเติบโตได้ดี เพราะฉะนั้นหากมีความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้รากสามสิบ