“สิ่งแวดล้อม” หมายถึงอะไร ? มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

            สิ่งแวดล้อม (Environment) หมายถึง สิ่งต่าง ๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพและชีวภาพอยู่รอบตัวมนุษย์ และเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
นอกจากนี้
สิ่งแวดล้อมยังเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา เป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต

ประเภทของ “สิ่งแวดล้อม”

​             จากความหมายข้างต้น เราสามารถแบ่งสิ่งแวดล้อมเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1) สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural environment)

              คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบ ๆ ตัวมนุษย์ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถแบ่งย่อยเป็น 2 ลักษณะ คือ

  1. สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment) : ใช้ระยะเวลาสั้นในการเกิด และสามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาทดแทนใหม่ได้ ขณะเดียวกันก็สูญสิ้นไปได้หากเกิดการทำลายธรรมชาติให้เสียสมดุล ได้แก่ ป่าไม้ สัตว์ ทุ่งหญ้า เป็นต้น
  2. สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) : หรือสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ที่อาจมองเห็นได้หรือไม่ได้ เช่น อากาศ เสียง แร่ธาตุ เป็นต้น เป็นสิ่งแวดล้อมที่ธรรมชาติสร้างขึ้น บางชนิดใช้เวลานานในการเกิดยาวนานจนไม่สามารถรอใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมได้ เช่น เชื้อเพลิง แร่ธาตุ ดิน หิน น้ำ อากาศ เป็นต้น

2) สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Environment)

             เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ได้ หรือมองเห็น จับต้องได้ หรือมองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ เป็นสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสนองความต้องการของตนเอง อันจะช่วยให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

  1. สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical  Environment) : เป็นสิ่งแวดล้อมที่มองเห็นและจับต้องได้ มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและสนองความต้องการขึ้นพื้นฐานของตนเอง ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นต้น
  2. สิ่งแวดล้อมทางสังคม (Social  Environment) มีลักษณะเป็นนามธรรม มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันในสังคม เช่น ประเพณี กฎ ระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย เป็นต้น นอกจากนี้อาจหมายถึง ความเชื่อ ศาสนา พิธีกรรม เป็นต้น

คุณสมบัติของ “สิ่งแวดล้อม”

​             สิ่งแวดล้อมมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เพราะฉะนั้นการเข้าใจคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  1. สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านโครงสร้าง – เช่น ขนาด รูปร่าง สี หรือกระบวนการสร้างขึ้น ทำให้สามารถระบุได้ว่าสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอะไร เช่น ป่าชายเลน ป่าสน ภูเขา พื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น
  2. สิ่งแวดล้อมไม่มีความโดดเดี่ยว แต่จะมีสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อยู่ด้วยเสมอ – เช่น ปลาต้องการน้ำ เพื่อการอยู่รอด สัตว์ป่าต้องการป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัย
  3. สิ่งแวดล้อมจะอยู่กันเป็นกลุ่ม – เรียกว่าระบบนิเวศ ในระบบนิเวศมีองค์ประกอบหลายชนิด ที่มีหน้าที่เฉพาะ
  4. สิ่งแวดล้อมควบคุมกระบวนการต่าง ๆ และทำงานร่วมกัน – มีความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ เมื่อสิ่งแวดล้อมหนึ่งถูกทำลายย่อมส่งผลต่ออีกสิ่งหนึ่ง
  5. สิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา – ซึ่งแต่ละประเภทมีความทนทานและมีความเปราะบางที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวหรือถาวรก็ได้

​              เพราะฉะนั้นสิ่งแวดล้อมทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จึงมีความสำคัญไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งต่าง ๆ บนโลกใบนี้อีกด้วย ผูกโยงสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่

ตัวอย่างความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “สิ่งแวดล้อม”

  • การบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้ไม่สามารถรักษาสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติได้
  • การปล่อยควันเสีย ทำให้สภาพอากาศในกรุงเทพมหานครมีฝุ่นควัน PM2.5 นำมาซึ่งโรคทางเดินหายใจ
  • ภาวะน้ำเน่าเสียในแม่น้ำเจ้าพระยา จากการปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม
  • การปลูกป่ากลางกรุง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง และช่วยบำบัดควันพิษ
  • การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • การใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนการใช้รถยนต์เชื้อเพลิง เพื่อลดการปล่อยควันเสียจากท่อไอเสีย
แหล่งอ้างอิง
  1. Vedantu. Types of Environment. เข้าถึงได้จาก https://www.vedantu.com/biology/types-of-environment
  2. จันทวัน เบ็ญจวรรณ์. สิ่งแวดล้อม. เข้าถึงได้จาก http://human.tru.ac.th/elearning/Human%20Being/human-detail1_4.html

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general