หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “ไตรมาส” ซึ่งมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงเศรษฐกิจและการเงิน แต่ทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว ไตรมาส คืออะไร ? มีช่วงเวลาคาบเกี่ยวเป็นอย่างไร ? บทความนี้ วิชาการ จะพามาไขข้อสงสัยเรื่องของไตรมาสกัน ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
ไตรมาส คืออะไร ?
ไตรมาส คือ ช่วงเวลา 3 เดือนของแต่ละปี โดยใน 1 ปีจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ช่วง เนื่องจาก 1 ปีมี 12 เดือน จึงสามารถแบ่งออกไปเป็น 4 ไตรมาสด้วยกัน ส่วนใหญ่คำว่าไตรมาสมักถูกนำมาใช้กับภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการประเมินผลประกอบการของบริษัท เพื่อรายงานผลการดำเนินการในรอบ 3 เดือน
ช่วงเวลาของไตรมาสตามปฏิทินสากล
แม้ว่าไตรมาสจะเป็นการแบ่งช่วงเวลาของแต่ละปีออก 4 ช่วงก็ตาม แต่กลับมีการกำหนดช่วงเวลาในการนับแต่ละเดือนแตกต่างกัน โดยที่ช่วงเวลาของไตรมาสสากลสามารถนับได้ตามช่วงเวลาปีปฏิทินสากล ดังนี้
- ไตรมาสที่ 1 คือ ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม
- ไตรมาสที่ 2 คือ ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน
- ไตรมาสที่ 3 คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน
- ไตรมาสที่ 4 คือ ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม
แต่มีข้อแตกต่างกันบางประการตรงที่บางธุรกิจอาจเริ่มนับไตรมาสเริ่มต้นที่เดือนธันวาคม ทั้งนี้เพื่อปิดยอดให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นปีจึงทำให้การนับไตรมาสสิ้นสุดที่เดือนพฤศจิกายน และนับเริ่มต้นไตรมาสในเดือนธันวาคมให้เป็นไตรมาสแรก ซึ่งแล้วแต่รอบผลิตและรอบการค้า แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัท จึงทำให้เราเห็นการนับช่วงเวลาของไตรมาสแตกต่างกันนั่นเอง
ไตรมาสปีงบประมาณของระบบราชการไทย
สมัยก่อนปีงบประมาณจะเริ่มต้นในเดือนเมษายน เนื่องจากเป็นวันปีใหม่ของไทย ก่อนที่ต่อมาได้เปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณมาเป็นเดือนตุลาคมแทน โดยมีเหตุผลว่าในช่วงเดือนเมษายนมีวันหยุดราชการจำนวนมาก ประกอบกับหากเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนก็เป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งทำงานได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ทำให้ปีพ.ศ.2502 ได้มีการออกพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ. 2502 เปลี่ยนวันเริ่มต้นปีงบประมาณเป็นเดือนตุลาคม ซึ่งการนับไตรมาสของปีงบประมาณระบบราชการไทย มีดังนี้
- ไตรมาสที่ 1 คือ ช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม
- ไตรมาสที่ 2 คือ ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม
- ไตรมาสที่ 3 คือ ช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน
- ไตรมาสที่ 4 คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน
ไตรมาสช่วงเวลาอื่น ๆ
ดังที่ได้อธิบายไปแล้วเมื่อข้างต้น ว่าไตรมาสนั้นอาจมีความแตกต่างกันบ้างในช่วงเวลาในการนับ ทั้งไตรมาสที่ยึดตามปฏิทินสากล และไตรมาสปีงบประมาณระบบราชการไทย แต่ความจริงแล้ว เรายังสามารถพบเห็นวิธีการนับไตรมาสอื่น ๆ ได้ดังนี้
- ไตรมาสที่ 1 คือ ช่วงเดือน ธันวาคม – กุมภาพันธ์
- ไตรมาสที่ 2 คือ ช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม
- ไตรมาสที่ 3 คือ ช่วงเดือน มิถุนายน – สิงหาคม
- ไตรมาสที่ 4 คือ ช่วงเดือน กันยายน – พฤศจิกายน
การใช้ Q1-Q4 แทนแต่ละไตรมาส
อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจมีการใช้คำว่า Q1, Q2, Q3, Q4 เพื่อบอกไตรมาส ซึ่งย่อมาจาก Quarters ซึ่งนับได้ดังนี้
- Q1 (First quarter): ไตรมาสแรก มี 90 วันหรือ 91 วัน ช่วง 1 มกราคม – 31 มีนาคม
- Q2 (Second quarter): ไตรมาสสอง มี 91 วัน ช่วง 1 เมษายน – 30 มิถุนายน
- Q3 (Third quarter): ไตรมาสสาม มี 92 วัน ช่วง 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน
- Q4 (Fourth quarter): ไตรมาสสี่ มี 92 วัน ช่วง 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม