หลายท่านเมื่อได้เห็นบิลค่าไฟฟ้าเดือนล่าสุดคงบ่นเป็นเสียงเดียวกัน ว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้นมาก ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมค่าไฟฟ้าถึงแพงขึ้น ทั้ง ๆ ที่ใช้เท่าเดิม ไม่ได้เพิ่มจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่อย่างใด แต่จำนวนหน่วยไฟฟ้าในบิลกลับสูงขึ้น วันนี้ วิชาการ ได้รวบรวมคำตอบของปัญหานี้ และวิธีการช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในเดือนถัดไป
ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่ใช้ไฟเท่าเดิม มีสาเหตุมาจากอะไร ?
1. อากาศร้อนเป็นเหตุ
ทางการไฟฟ้านครหลวงได้ออกมาชี้แจ้งให้ทราบว่า การที่ “หน่วยไฟ” ที่ระบุในใบเสร็จค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิมเกิดจากสภาพอากาศในฤดูร้อนที่ร้อนกว่าปกติ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องทำความเย็น เช่น ตู้เย็น หรือ แอร์ ทำงานหนักขึ้น จึงกินไฟมากขึ้น แม้ว่าทั้งจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าและระยะเวลาใช้งานจะไม่ต่างจากเดือนก่อนมากนัก
- ยกตัวอย่างเช่น หลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็น คือ การใช้พลังงานไฟฟ้าในการรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เราตั้งไว้ แต่ ! เมื่ออากาศบริเวณรอบข้างร้อนขึ้น เครื่องจึงต้องใช้พลังงานมากขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิเท่าเดิม อีกทั้งเครื่องก็จะทำงานนานขึ้นโดยไม่ตัดเพื่อรักษาอุณหภูมิ
2. การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 66
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าช่วงเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยคิดค่า Ft ราคาเดียวกัน ทั้งผู้ใช้ไฟในที่อยู่อาศัยและประเภทอื่น ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ให้สาเหตุหลักของค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นนั้นมาจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงและปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงอย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็มีการวางแผนปรับลดราคาลงในอนาคต
จะประหยัดไฟฟ้าได้อย่างไรบ้าง ?
ทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ให้เทคนิคการประหยัดไฟตามประเภทของเครื่องไฟฟ้า ดังนี้
หลอดไฟให้แสง
- ปิดไฟทุกครั้ง เมื่อไม่มีคนอยู่ในห้อง
- ห้องที่ต้องใช้แสงมาก ควรใช้หลอดฟลูออเรสเซนซ์ ส่วนบริเวณภายนอกควรใช้หลอดไอโซเดียมหรือหลอดไอปรอท
- ควรถอดปลั๊กโคมไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ให้แสงที่เสียบปลั๊กเมื่อไม่ได้ใช้เป็นเวลานาน
เตารีด
- ตั้งระดับความร้อนให้เหมาะกับประเภทของผ้า
- ถอดปลั๊กก่อนรีดเสร็จ 2-3 นาที
- เริ่มรีดผ้าบาง ๆ ที่ใช้ไฟอ่อนขณะที่ไฟยังไม่ร้อนมาก
พัดลม
- ปรับความเร็วลมให้เหมาะสม
- เปิดเฉพาะเวลามีคนใช้งาน
- หากเป็นไปได้ควรเปิดหน้าต่างรับลมแทนการใช้พัดลม
เครื่องปรับอากาศ
- ไม่ควรตั้งอุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส
- ควรใช้เครื่องขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง
- พิจารณาติดตั้งบังแสงหรือกันแดด เพื่อลดภาระการทำงานของเครื่อง
เครื่องทำน้ำอุ่น
- ปิดวาล์วทันทีเมื่อไม่ใช้งาน
- ควรปิดสวิตช์ของเครื่องทำน้ำอุ่นเมื่อไม่ใช้
- ปรับความร้อนให้เหมาะสมและไม่ร้อนเกินความจำเป็น
- ลดการอาบน้ำอุ่นในช่วงฤดูร้อน
Reference:
- ประชาชาติธุรกิจ. (2566). ค่าไฟแพงขึ้นทั้งที่ใช้ไฟเท่าเดิม เพราะอะไร ตรวจสอบเลย. สืบค้นเมื่อวันที่ 23เมษายน 2566, จาก https://bit.ly/41xQyr7
- PPTV. (2566). รัฐบาล แจงการคำนวณค่าไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค. 66 ย้ำจะทยอยปรับลด ตามราคาเชื้อเพลิง. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566, จาก https://bit.ly/41xQyr7
- PEA. (2563). วิธีใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัด. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2566, จาก https://bit.ly/40ElbKe