นวัตกรรม (Innovation) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินของคำว่า Innovare แปลว่า “ทำสิ่งใหม่ขึ้นมา” แต่สำหรับประเทศไทยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของคำว่า นวัตกรรม คือ “สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม”
จึงอาจกล่าวได้ว่า นวัตกรรม (Innovation) คือ สิ่งที่เกิดจากการคิดค้นหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หรือถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้แก่ เทคโนโลยี ความคิด สิ่งประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่อาจมาจากการดัดแปลงหรือต่อยอดมาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นก็ได้
ประเภทของนวัตกรรม
นวัตกรรม (Innovation) สามารถแบ่งได้ออกเป็น 4 ประเภท แต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันออกไปตามความแปลกใหม่ของเทคโนโลยีและผู้ใช้งาน ซึ่งแต่ละประเภทส่งผลกระทบแตกต่างกับตลาดและกลยุทธ์ขององค์กร ประกอบด้วย 4 ประเภทตาม Innovation Matrix ดังนี้
นวัตกรรมแบบก่อกวนทำลาย (Disruptive Innovation)
นวัตกรรมแบบก่อกวนทำลาย (Disruptive Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่และมีผลกระทบสูงต่อผู้ใช้งาน นิยมใช้สร้างตลาดใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนของเก่าโดยสิ้นเชิง
ตัวอย่างการนวัตกรรมแบบนี้เช่น การเข้ามาของ Google Maps ทำให้ผู้คนหันมาใช้แทนแผนที่แบบกระดาษ, การใช้แอปพลิเคชันในการเรียกแท็กซี่แทนการโบก เพื่อลดการปฎิเสธการเดินทาง, การเข้ามาของ Netflix ซึ่งทดแทนร้านเช่าแผ่นภาพยนตร์
นวัตกรรมแบบสิ้นเชิง (Radical Innovation)
นวัตกรรมแบบสิ้นเชิง (Radical Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ แต่ยังไม่ได้สร้างผลกระทบต่อผู้ใช้งาน โดยมากมักเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่สามารถหาตลาดหรือช่องทางทำกำไรได้
ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีหุ้นยนต์ (Robotics), ปัญญาประดิษฐ์ (AI), บล็อคเชน, การตัดต่อพันธุกรรม เป็นต้น
นวัตกรรมแบบยั่งยืน (Sustaining Innovation)
นวัตกรรมแบบยั่งยืน (Sustaining Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใหม่มาก แต่มีผลกระทบสูงต่อผู้ใช้งาน มักใช้ทำให้ตลาดเติบโตขึ้น เพื่อกอบโกยกำไรโดยไม่มีการหาตลาดใหม่ โดยมากมักเป็นนวัตกรรมที่ค่อย ๆ พัฒนาไปทีละเล็กทีละน้อย แต่จะเป็นนวัตกรรมที่ดีกว่า เร็วกว่า ถูกกว่า เน้นความต้องการของผู้ใช้งานและธุรกิจมากกว่าเทคโนโลยี
ตัวอย่างเช่น การออกโทรศัพท์รุ่นใหม่ของ Apple, Samsung
นวัตกรรมแบบต่อยอด (Incremental Innovation)
นวัตกรรมแบบต่อยอด (Incremental Innovation) คือ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใหม่มาก และมีผลกระทบสูงต่อผู้ใช้งานต่ำ โดยมากนิยมใช้กับสินค้าที่มีอยู่ในตลาดอยู่แล้ว เช่นการปรับหน้าเว็บไซต์ให้ใช้งานง่ายขึ้น, การเพิ่มฟังค์ชั่นใหม่ของแอปโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น คล้ายกับนวัตกรรมแบบยั่งยืนตรงที่มีการพัฒนาทีละเล็กทีละน้อย และเป็นนวัตกรรมที่ดีกว่า ถูกใจกว่า เน้นความต้องการของผู้ใช้งานและธุรกิจมากกว่าเทคโนโลยี
รูปแบบของนวัตกรรม
เราสามารถแบ่งประเภทของนวัตกรรมออกไป 4 ประเภทดังตัวอย่างข้างต้น เรายังสามารถแบ่งรูปแบบของนวัตกรรมออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ดังนี้
- นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบดีไซน์ของสินค้า วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า เป็นต้น
- นวัตกรรมการดำเนินงาน (Process Innovation) คือ ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงานหรือการออกแบบการดำเนินงานขึ้นใหม่ เช่น ปรับปรุงวิธีการดำเนินงานภายในองค์กรให้แตกต่างออกไปจากเดิม ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตรถยนต์ได้นำระบบ Just In Time มาใช้ผลิตสินค้าให้เท่ากับจำนวนการสั่งซื้อแทนที่จะผลิตจำนวนมาก ๆ เหมือนในอดีต
- นวัตกรรมธุรกิจ (Business Innovation) คือ นวัตกรรมเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงตลาดหรืออุตสาหกรรม เช่น การปรับวิธีการดำเนินงานขององค์กร รวมถึงการพัฒนาสินค้า บริการใหม่ ๆ อันเกิดจากการวิจัยและพัฒนาภายในองค์กร เพื่อตอบโจทย์การความต้องการของตลาด ตัวอย่างเช่น Uber หรือ Grab ที่เกิดขึ้นจากการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ จนติดตลาดและเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจในที่สุด
ประโยชน์และความสำคัญของนวัตกรรม
จากความหมาย ประเภทและรูปแบบของนวัตกรรม จะเห็นได้ว่านวัตกรรมมีประโยชน์และความสำคัญอยู่ที่การพัฒนาและสร้างคุณค่า โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ ลดต้นทุนในการผลิต พัฒนาขั้นตอนในการผลิตและดำเนินงาน และช่วยขยายขอบเขตทางธุรกิจด้วยการมุ่งพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อขยายตลาด อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความล้มเหลวได้ในแง่ของการมีคู่แข่งจำนวนมาก และการจัดสรรเงินทุนหรือทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมก็เสี่ยงต่อความล้มเหลวของนวัตกรรมได้เช่นกัน
ตัวอย่างนวัตกรรมอื่นๆ
ดังที่ได้อธิบายไว้ในตอนต้นว่านวัตกรรมไม่ได้จำกัดแต่เทคโนโลยี แต่ยังหมายรวมไปถึงสิ่งใหม่ ๆ ที่ให้ประโยชน์กับคนที่ต้องการใช้ประโยชน์ด้วย สำหรับตัวอย่างของนวัตกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่
การออกแบบแพคเก็ตกล้วยหอมในซุปเปอร์มาร์เกตของเกาหลีใต้ เป็นหนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจว่า E-mart ซุปเปอร์มาร์เกตพยายามที่จะแก้ไขปัญหากล้วยหอมสุกเร็วกินไม่ทัน ด้วยแพคเก็ตกล้วยหอมที่ช่วยให้กล้วยหอมสุกพร้อมทานจากการสุกเรียงจากซ้ายไปขวา โดยไม่ต้องกลัวว่ากล้วยจะสุกพร้อมกัน
นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น กระดาษ Post-It จาก 3M ที่มากกว่าการเป็นกระดาษโน้ตที่มีแถบกาว และกระดาษที่มีสีสัน ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย
หรือจะเป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เช่น สัญญาณไฟจราจรนาฬิกาทราย ที่ไม่ว่ารถจะติดนานแค่ไหนก็ให้คุณได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการขับขี่
หรือจะเป็นกระดาษห่อของขวัญ Crossword กระดาษห่อของขวัญเพียงใบเดียว แต่ให้ชื่อครบทุกเทศกาล แค่เอาปากกามาวง เป็นต้น