การรับวัคซีนสามารถป้องกันโรคและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เราได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราสามารถรับวัคซีนขั้นพื้นฐานตามที่กระทรวงสาธารณระบุไว้ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี วัคซีนบางชนิดแพทย์จะเป็นผู้แนะนำในการรับวัคซีน เพราะวัคซีนบางชนิดอาจทำให้เกิดการแพ้ และอาการข้างเคียงทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงได้
วัคซีนมี 2 ประเภท คือ
- วัคซีนหลัก หรือวัคซีนพื้นฐาน ที่เด็กทุกคนต้องได้รับ เพื่อป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพของเด็กให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค, วัคซีนตับอักเสบบี, วัคซีนคอตีบ, บาดทะยัก, ไอกรน, ฮิบ โปลิโอ, วัคซีนหัด, หัดเยอรมัน, คางทูม, วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี, วัคซีนโรต้า
- วัคซีนเสริม หรือวัคซีนทางเลือก ผู้ปกครองสามารถเลือกฉีดให้กับเด็ก ๆ ได้ ตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะวัคซีนในกลุ่มนี้ มีราคาค่อนข้างแพง และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนป้องกันตับอักเสบ (HAV), วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส, วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD)
สำหรับวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นวัคซีนทางเลือก และยังไม่บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานของไทย แต่เพื่อลดความรุนแรงของโรคแล้ว เราสามารถติดต่อขอฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือพื้นที่ที่รัฐจัดให้
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว มักมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการปวด, บวม, แดง และมีไข้ บางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย ในรายที่ไม่รุนแรงมักหายได้เองภายใน 1–2 วัน บางรายที่รุนแรงอาจต้องใช้เวลานาน และถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการแพ้วัคซีน แน่นอนว่าอาการปวดเหล่านั้นอาจส่งผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน และงานของเราได้ หากจำเป็นอาจต้องลาเพื่อพักผ่อน ดังนั้นเรามาดูวิธีลดอาการปวดจากการฉีดวัคซีนกันค่า
วิธีลดอาการปวดไหล่ หลังฉีดวัคซีน
- ประคบเย็น หลังฉีดวัคซีนสามารถประคบเย็นได้ทันที ความเย็นจะทำให้รู้สึกชาและช่วยลดอาการปวดได้
- ไม่แนะนำให้ประคบร้อนหลังฉีดวัคซีนทันที เพราะจะทำให้แสบร้อนและบวมมากขึ้น
- ไม่ควรยกแขนหรือใช้แขนข้างที่ฉีดวัคซีนมากเกินไป เพราะจะทำให้ปวดมากขึ้น
- งดออกกำลังกายหรือยกของหนัก แขนข้างที่ฉีดวัคซีน อย่างน้อย 2-3 วัน หรือจนกว่าจะดีขึ้น
- หากมีอาการปวดมาก หรือมีไข้หนาวสั่น ให้กินยาแก้ปวด ลดไข้ ได้ทันที
ท่าบริหารลดอาการปวดไหล่ หลังฉีดวัคซีน
- ท่าที่ 1 : ยืนตรงแนบแขนข้างลำตัว แล้วกางแขนออกด้านข้างง่าย ๆ ทำมุม 90 องศา ขยับขึ้นลงเบา ๆ 20 ครั้ง
- ท่าที่ 2 : ต่อจากท่าที่ 1 หลังจากกางแขน ให้ยกแขนมาด้านหน้าลำตัว แล้วกางแขนกลับไปด้านข้างอีกครั้ง ทำ 20 ครั้งสลับไปมา
- ท่าที่ 3 : แนบแขนลงข้างลำตัว งอข้อศอก 90 องศา หลังจากนั้นหมุนแขนไปทางด้านข้างแล้วหมุนกลับมาทางด้านหน้าลำตัว ทำซ้ำ ๆ 20 ครั้ง
เมื่อทราบวิธีลดอาการปวดแล้ว ก็อย่าลืมไปฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่, วัคซีนวัณโรค และวัคซีนอื่น ๆ ที่จำเป็น รวมถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กันด้วยนะคะ
References:
- เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ. (2565). 3 ท่าจบ!! ลดปวดไหล่..หลังไปฉีดวัคซีน. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3MjJYN7.
- บัณฑิตกายภาพบำบัดและจัดกระดูก. (2564). 6 เทคนิค ป้องกัน/ลดปวดต้นแขนหลังฉีดวัคซีน. สืบค้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3MgIfbq.
- Bangkokhospital. (2565). เช็กอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน COVID-19. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3vzHeEo.