สังเกตอาการและเอาตัวรอดจาก “สารไซยาไนด์” อย่างไรดี ?


          หากพูดถึงสารพิษอันตรายที่ไร้รส ไร้กลิ่น คงมีหลายท่านนึกถึงสารหนูเป็นอันดับแรก แต่จากข่าวดังในช่วงเวลานี้เลยมีคนให้ความสนใจเกี่ยวกับสารอันตรายที่เรียกว่า “ไซนาไนด์” กันมากขึ้น และคิดคงไม่มีใครอยากมีประสบการณ์พบเจออย่างเช่นในข่าวเช่นกัน

          แต่จะดีแค่ไหนหากเราสามารถรู้ถึงวิธีสังเกตอาการ และการบรรเทาอาการเบื้องต้น หากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับในข่าว บทความนี้ วิชาการ จะพามาดูวิธีสังเกตอาการ รวมถึงวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อให้สามารถเอาตัวรอดจากการได้รับสารพิษจากไซยาไนด์กัน

“สารไซยาไนด์” คืออะไร ?

          ไซยาไนด์ (Cyanide) คือ สารพิษชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง, ข้าวชนิดต่างๆ, เผือก, หน่อไม้ เป็นต้น เนื่องจากการปรับตัวทางธรรมชาติเพื่อป้องกันศัตรูพืชแต่มีปริมาณเพียงน้อยนิดเท่านั้นและหากเรานำมาปรุงให้สุกจะสามารถทำลายสารไซยาไนด์ไปได้ แล้วจึงรับประทานได้ แต่สารไซนาไนต์ในความเข้มข้น 0.5–3.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นความเข้มข้นที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพียงสัดส่วน 1 ใน 500 ช้อนชาก็ทำให้เสียชีวิตได้ โดยในเชิงอุตสาหกรรมจะใช้สารชนิดนี้ในกระบวนการผลิตกระดาษ, สิ่งทอ, พลาสติก เป็นต้น

          เมื่อได้รับสารไซยาไนด์เข้าไป ตัวสารจะเข้าไปเกาะกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เซลล์ทำงานล้มเหลวในการผลิตพลังงานไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ฤทธิ์ของมันจะคล้ายสารหนู แต่ไซยาไนด์ออกฤทธิ์เร็วกว่ามาก เพราะเป็นอันตรายต่อหัวใจได้ในทันที อาการเริ่มแรก คือ ปวดหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ตามด้วยอาการหมดสติ เข้าขั้นโคม่า และหัวใจหยุดเต้น จนเสียชีวิตในที่สุด

“สารไซยาไนด์” มีรูปแบบไหนบ้าง ?

  • ของเหลว เช่น Potassium cyanide มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแร่
  • ของแข็ง เช่น Sodium cyanide มีลักษณะเป็นผลึกหรือผง เป็นสารเคมีที่ใช้อุตสาหกรรมการเคลือบเงา รวมถึงส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง
  • แก๊ส เช่น Hydrogen Cyanide, Cyanogen Chloride พบได้ในควันจากท่อไอเสีย, บุหรี่ รวมถึงควันจากอุตสาหกรรม เป็นต้น

ภาวะเป็นพิษจากการได้รับ “สารไซยาไนด์” มีแบบไหนบ้าง ?

          สารไซยาไนด์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง โดยความอันตรายจะขึ้นกับปริมาณ ความเข้มข้นและระยะเวลาที่รับสารพิษ โดยสามารถแบ่งผลกระทบจากการได้รับสารพิษออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นทันที เช่น เวียนหัว หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ชัก หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น หมดสติ ไปจนถึงเสียชีวิต
  2. แบบเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากการได้รับสารไซยาไนด์ปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจมีอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง ตามมาด้วยอ่อนแรง หายใจช้า จนทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และเสียชีวิตในที่สุด

หากได้รับ “สารไซยาไนด์” มีวิธีบรรเทาอาการอย่างไรบ้าง ?

          เนื่องจากไม่มีวิธีการปฐมพยาบาลแบบจำเพาะเจาะจงกับการถูกสารพิษชนิดนี้ หลักการ คือ ต้องลดปริมาณการสัมผัสของสารไซยาไนด์ให้ได้มากที่สุด และควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเช่นกัน แต่มีวิธีสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้

  1. หากสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้เกิดการระคายเคือง ต้องถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารไซยาไนด์ออกทันที หลีกเลี่ยงสัมผัสโดยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออก และระมัดระวังไม่ให้สัมผัสร่างกายบริเวณอื่น ๆ เพิ่ม จากนั้นทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำและสบู่ ก่อนนำส่งโรงพยาบาล ส่วนเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
  2. หากสูดดม ให้นำตัวเองออกจากบริเวณที่มีการปนเปื้อนสารไซยาไนด์ทันที หรือหากไม่สามารถออกจากสถานที่นั้นได้ทันที ควรก้มหัวลงต่ำ หากต้องทำ CPR ในกรณีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ควรหลีกเลี่ยงการเป่าปาก เนื่องจากจะเป็นทำให้ผู้ป่วยได้รับสารพิษในอากาศมากขึ้นกว่าเดิม
  3. หากรับประทาน ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพื่อรักษาได้ทันท่วงที
  4. หากสัมผัสทางดวงตา ให้บรรเทาอาการด้วยการล้างตาด้วยน้ำสะอาดต่อเนื่องอย่างน้อย 10 นาที ก่อนนำส่งโรงพยาบาล

ได้รับพิษจาก “สารไซยาไนด์” รักษาอย่างไร ?

          การรักษาที่ทำได้ คือ การประคับประคองตามอาการ ตั้งแต่การให้ออกซิเจน ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และยากระตุ้นความดันหากความดันโลหิตต่ำ หรือให้ยากันชัก รวมไปถึงการให้ยาต้านพิษในกลุ่ม Sodium Nitrite และ Sodium Thiosulfate

หมายเหตุ : ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารไซยาไนด์ เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ให้สวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิด ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนสารไซยาไนด์ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ

 

 

Reference:

  • โรงพยาบาลสินแพทย์.  (2566).  รู้จัก “ไซยาไนด์” สารเคมีอันตรายถึงชีวิต!.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566, จาก https://bit.ly/42dlaOS
  • อมรรัตน์ พรหมบุญ.  (2566). พิษไซยาไนด์ อันตรายจริงหรือ? Cyanide….Toxic?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566, จาก https://bit.ly/3AEHftV
  • POBPAD.  (2566).  Cyanide สารอันตราย ความเสี่ยง และวิธีการรับมือ.  สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2566, จาก https://bit.ly/42cC9Rm

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general