อำนาจขององค์กรฝ่ายปกครองของรัฐ
อำนาจที่กฎหมายให้แก่องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐในทางทฤษฎี มี 2 ประเภทได้แก่
1) อำนาจผูกพัน (Mandatory Power) และ 2) อำนาจดุลพินิจ (Discretionary Power)
1) อำนาจผูกพัน (Mandatory Power) คือ อำนาจที่องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐต้องปฏิบัติ เมื่อมีข้อเท็จจริงเกิดขึ้น ตามที่กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ ได้บัญญัติไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนี้ องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐจะต้องออกคำสั่ง และคำสั่งนั้นต้องมีเนื้อความเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น เรื่องการร้องขอจดทะเบียนสมรส เมื่อชายและหญิงผู้ร้องขอมีคุณสมบัติครบถ้วนและปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการสมรสที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว นายทะเบียนครอบครัวจะต้องทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ร้องเสมอ เป็นต้น
เหตุที่เรียกว่าเป็นอำนาจผูกพันก็เพราะ คำวินิจฉัยสั่งการดังกล่าว เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรฝ่ายปกครองของรัฐ ซึ่งกฎหมายกำหนดและยอมรับว่าการปฏิบัติหน้าที่นั้นมีผลใช้บังคับได้สมบูรณ์ นั่นเอง
2) อำนาจดุลพินิจ (Discretionary Power) อำนาจดุลพินิจจะแตกต่างกับอำนาจผูกพัน กล่าวคือ อำนาจดุลพินิจเป็นอำนาจที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ หรือองค์กรฝ่ายปกครองของรัฐ สามารถเลือกตัดสินใจออกคำสั่ง หรือเลือกสั่งการอย่างใด ๆ ได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย หรือตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่ง อำนาจดุลพินิจก็คืออำนาจที่กฎหมายเปิดช่องให้องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐมีอิสระในการตัดสินใจ เมื่อมีเหตุการณ์หรือมีข้อเท็จจริงใด ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้เกิดขึ้น
อำนาจผูกพัน กับ อำนาจดุลพินิจ แตกต่างกันอย่างไร
ทั้งอำนาจผูกพันและอำนาจดุลพินิจส่วนใหญ่แล้วกฎหมายจะกำหนดให้ใช้อำนาจทั้งสองนี้ไปด้วยกัน กล่าวคือ เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใดเกิดขึ้นแล้ว องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐจะต้องออกคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ (ซึ่งเป็นอำนาจผูกพัน) แต่จะออกคำสั่งอย่างไร หรือจะเลือกใช้มาตรการอย่างไรนั้น ฝ่ายปกครองสามารถตัดสินใจได้อย่างมีอิสระ ตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ (อำนาจดุลพินิจ) เช่น ข้าราชการกระทำผิดวินัยร้ายแรง กฎหมายบังคับไว้ชัดเจนว่า ผู้บังคับบัญชา ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้ง ต้องสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการผู้นั้น แต่ผู้บังคับบัญชาฯ ก็มีอิสระในการตัดสินใจว่าจะสั่งลงโทษข้าราชการผู้นั้นสถานใด กล่าวคือ จะสั่งปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ เป็นต้น
บางกรณีกฎหมายอาจกำหนดว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ ที่กำหนดไว้เกิดขึ้น องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐ ก็มีอิสระในการตัดสินใจว่าจะออกคำสั่งในเรื่องนั้นหรือไม่ (ซึ่งเป็นอำนาจดุลพินิจ) แต่ถ้าตัดสินใจไปทางออกคำสั่งแล้ว ก็จะต้องมีเนื้อความของคำสั่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้เฉพาะเจาะจง (ซึ่งเป็นอำนาจผูกพัน) เช่น กรณีบุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติกระทำการใด ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น ขัดต่อประโยชน์ของรัฐหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นการเหยียดหยามประเทศชาติ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถจะตัดสินใจได้อย่างอิสระว่าสมควรจะออกคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไร หรือไม่ แต่ถ้าตัดสินใจไปในทางถอนสัญชาติก็ต้องออกคำสั่งให้ถอนสัญชาติบุคคลนั้น
คำสั่งทางปกครองที่ถือว่าเหมาะสมแก่กรณีก็คือ คำสั่งที่สามารถตอบสนองต่อประโยชน์มหาชนได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ขณะเดียวกัน ก็กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของราษฎร (เอกชน) น้อยที่สุด จึงเห็นได้ว่า การจะออกคำสั่งให้เกิดผลในลักษณะนี้ได้ องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐ ผู้ออกคำสั่งต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงของกรณีที่เกิดขึ้นนั้นอย่างรอบคอบทุกด้าน การใช้ดุลพินิจอย่างแท้จริง จึงหมายถึง การที่องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริง ที่ประกอบขึ้นเป็นกรณีนั้น ๆ อย่างรอบคอบถี่ถ้วนทุกด้านแล้ว จึงใช้วิจารณญาณตัดสินใจออกคำสั่งไปเพื่อสนองข้อเรียกร้องของประโยชน์มหาชนในขณะนั้น
Reference:
- krisdika. (2565). ความเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/39AfSqE
- สุภาวดี อ่องโอภาส. (2563). ความรู้ด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการ ฉบับที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3MEoScZ
- เฉลิมศักดิ์ วงศ์ศิริวัฒน์. (2565). ดุลพินิจในการออกคําสั่งทางปกครอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3sGedqb