7 วิธีดึงตัวเองให้ก้าวข้ามเหตุการณ์อันเลวร้าย เพื่อเดินหน้าต่อไป

          เหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภูที่ผ่านมา ส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิต และคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดและมีความรุนแรงลักษณะนี้ จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดภาวะผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตรายหรือ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD)

          โดยผู้ที่เป็น PTSD จะมีอาการทางจิต ได้แก่ นึกถึงภาพเหตุการณ์ซ้ำ ๆ, ฝันร้าย, วิตกกังวล, ซึมเศร้า หรืออาการทางกาย เช่น ใจสั่น, มือสั่น, เหงื่อออกมาก, ปวดท้อง, ปวดหัว, แน่นหน้าอก ยิ่งไปกว่านั้น การเสพข่าวมากถึงแม้เราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง ก็อาจจะทำให้เกิดมีอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล อันส่งผลต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน วันนี้ วิชาการ จึงได้รวบรวม 7 วิธีช่วยให้เราสามารถเดินหน้าต่อไปจากเหตุการณ์ที่รุนแรงต่อจิตใจ

7 วิธีก้าวข้ามเหตุการณ์อันเลวร้าย เพื่อเดินหน้าต่อไป

1. อย่าอยู่คนเดียว

          การเข้าหาเพื่อน, ครอบครัว, คนสนิทที่เราคุยด้วยได้ หรืออาจจะเป็นคนที่ผ่านเหตุการณ์คล้าย ๆ กันมาก่อน โดยแชร์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ จะทำให้เราได้กำลังใจในการดำเนินชีวิต ได้มุมมองที่แตกต่าง แต่ถ้าหากเรายังไม่พร้อม ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แค่เพียงได้พูดคุยกับคนอื่น ถือเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูสภาพจิตใจได้แล้ว

2. ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ

          งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็น การเดิน, วิ่ง, เต้นแอโรบิก, เล่นโยคะหรือการออกกำลังกายในฟิตเนส ฯลฯ ล้วนช่วยให้ผู้ป่วย PTSD หรือผู้ที่มีอาการซึมเศร้า มีอาการดีขึ้นได้ อาจจะไม่ต้องถึงขนาดวิ่งมาราธอนหรือออกกำลังกายอย่างจริงจัง แต่สามารถเริ่มได้จากการเดินหรือการยืดเส้น ถือเป็นตัวช่วยได้ดี

3. ปรึกษาจิตแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญ

          หากความเครียดจากเหตุการณ์ ส่งผลต่อจิตใจและร่างกายทวีความรุนแรงมากขึ้น ภายในหนึ่งเดือนแรกหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น ควรที่จะปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยเบื้องต้นสามารถติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ทุกวันทำการ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.

4. ลดการดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมา

          การดื่มเพื่อให้หลับหรือลืมเรื่องร้าย ๆ เป็นวิธีที่ใครหลายคนอาจจะเคยใช้เมื่อเจอปัญหาในชีวิต แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียใจอย่างมาก วิธีการดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับความรู้สึก และยิ่งไปกว่านั้น การพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดความเจ็บปวดทางจิตใจเป็นระยะเวลานานอาจก่อให้เกิดภาวะติดสุราเรื้อรังตามมา

5. ลาหยุดพักผ่อนเพื่อเติมพลัง

          เราอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้าต่อการทำงานมากกว่าปกติ หรือจิตใจไม่อยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ในขณะที่เรากำลังทำใจหรือพึ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สะเทือนใจ ดังนั้นการลาหยุดพักผ่อนเพิ่มเติมพลังและให้เวลากับการรักษามากขึ้น จะส่งผลดีในระยะยาวและช่วยให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

6. ทำกิจกรรมสร้างสรรค์

          เช่น ฟังเพลง, เขียนไดอารี่, อ่านหนังสือ, สร้างงานศิลปะ หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมงานร้องเพลง, แข่งกีฬาหรือท่องเที่ยว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาการทำงานของร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจจะเริ่มจากการทำงานศิลปะจากสิ่งง่าย ๆ ใกล้ตัว หรือจะเข้าคอร์สศิลปะบำบัดก็ได้เหมือนกัน

7. ลดการเข้าถึงสื่อโซเชียลต่าง ๆ

          เพื่อลดการรับรู้สิ่งที่บั่นทอนจิตใจ ภาพเรื่องราวต่าง ๆ หรือสิ่งที่ทำให้สภาพจิตใจวนกลับมาสู่เรื่องราวแย่ ๆ เหมือนเดิม

 

 

 

Reference:

  • โรงพยาบาลเพชรเวช.  (2563).  ภาวะ PTSD ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด.  สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม  2565, จาก https://bit.ly/3SMGw0T
  • Ariane Resnick, CNC.  (2565).  10 Ways to Heal From Trauma.  สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3SGMFf8
  • Arefa Cassoobhoy.  (2565).  Self-Care and Recovery After Trauma.  สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2565, จาก https://wb.md/3ykEqgv

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general