สำหรับลูกจ้างประจำหรือมนุษย์เงินเดือนหลายคน ประกันสังคมมาตรา 33 (ม.33) เป็นสวัสดิการอีกส่วนหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะนอกจากจะมีสิทธิประโยชน์ทางการรักษาหลายอย่างแล้ว หากวางแผนดี ๆ คุณอาจจะได้บำนาญหลังเกษียณตลอดชีวิตเลยก็ได้ วันนี้ วิชาการ จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคม ม.33 ให้ทุกท่านได้ทราบกัน ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
“ประกันสังคมมาตรา 33” คืออะไร ?
ผู้ประกันตนมาตรา 33 หมายถึง ลูกจ้างที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเดือนละ 5% ของเงินเดือน นอกจากนี้นายจ้างจะสมทบเพิ่ม 5% และรัฐบาลสมทบเพิ่ม 2.75% ด้วย ซึ่งปกตินายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการสมัครให้กับพนักงานในช่วงรับเข้าทำงาน และจะนำส่งเงินสมทบให้กับผู้ประกันตน โดยจะหักจากเงินเดือนของพนักงานโดยอัตโนมัติแล้วนำส่งสำนักงานประกันสังคมผ่านช่องทางต่าง ๆ
หลักการจ่ายเงินสมทบ “ม. 33” เป็นอย่างไร ?
หากผู้ประกันตนมีเงินเดือนหรือค่าจ้างมากกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาทต่อเดือน จะต้องจ่ายเงินสมทบ 750 บาท ต่อเดือน ซึ่งเป็นเพดาน แต่ถ้าหากเงินเดือนต่ำกว่านั้นก็จะจ่ายในสัดส่วน 5%
“ม. 33” มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ?
หากผู้ประกันตน ม.33 ส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง เราจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย โดยสามารถแบบออกเป็น 8 ข้อหลัก ๆ
-
เจ็บป่วย : หากสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนที่เจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นฟรี ทั้งกรณีผู้ป่วยในและนอก อีกทั้งสามารถตรวจสุขภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพได้ด้วย
- ว่างงาน : ถ้าผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบอย่างน้อย 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงาน จะได้รับสิทธิดังนี้
- ถูกเลิกจ้าง – จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในระหว่างการว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกรอบเวลา – จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในช่วงว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน
- หยุดทำงานเพราะเหตุสุดวิสัย – จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในระหว่างการว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
- คลอดบุตร : ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งผู้ประกันตนที่เป็นหญิงและชาย อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sso.go.th
- สงเคราะห์บุตรหรือค่าเลี้ยงดูลูก : ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเหมาจ่ายเดือนละ 600 บาทต่อบุตร 1 คน ต่อเดือน คราวละไม่เกิน 3 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ เมื่อส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน
-
พิการหรือทุพพลภาพ : เมื่อทุพพลภาพระดับความสูญเสียรุนแรง จะได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ยตลอดชีวิต และรักษากับโรงพยาบาลรัฐฟรี ส่วนโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับค่าบริการทางแพทย์สูงสุด เดือนละ 2,000 – 4,000 บาท
- ชราภาพ (อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์)
- หากจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบําเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบําเหน็จเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
- จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน (15 ปีขึ้นไป) จะได้รับเงินบำนาญชราภาพในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ และให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
- เสียชีวิต : หากส่งเงินสมทบครบ 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ถึงแก่ความตาย ได้รับสิทธิ ดังนี้
-
- ค่าทำศพ 40,000 บาท
- กรณีจ่ายเงินสมทบมากกว่า 36 เดือน แต่น้อยกว่า 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 4 เดือน
- จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง 12 เดือน
-
- ลดหย่อนภาษี : เงินสมทบที่เราส่งมาตลอดทั้งปีสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เต็มจำนวน
ประกันสังคมถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการ สำหรับลูกจ้างและผู้ใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อครบอายุงานหรือชราภาพตามกฎหมายแรงงาน เรายังมีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน แล้วอย่าลืมจ่ายเงินสบทบและรักษาสิทธิประโยชน์ของเราด้วยนะคะ
Reference:
- สำนักงานประกันสังคม. (2562). คู่มือผู้ประกันตน. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566, จาก https://bit.ly/3ovKC3D
- 5 MIN READ. (2566). สรุปครบจบทุกอย่าง ประกันสังคมมาตรา 33 สิทธิประโยชน์ 2566. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566, จาก https://bit.ly/42YAGPi
- หอสมุดรัฐสภา. (2565). สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนมาตรา 33. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2566, จาก https://bit.ly/42Wel4J