การประชุม APEC ครั้งที่ 29 ที่กำลังจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 ถึง 18 พฤศจิกายนนี้ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้นำประเทศและบุคคลสำคัญจากหลากหลายประเทศเดินทางมาเข้าร่วมงาน ทำให้ใครหลายคนได้รับอานิสงส์หยุดยาวไปหลายวันเลยทีเดียว วันนี้ทาง วิชาการ ขอพาทุกท่านมาทำความรู้จักว่า การประชุม APEC คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
APEC คืออะไร?
APEC ย่อมาจาก Asia-Pacific Economic Cooperation เป็นเวทีการประชุมเพื่อพูดคุยและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 (พ.ศ. 2532) ซึ่งมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประชากรในภูมิภาค โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของแต่ละประเทศ, ความยั่งยืนและสมดุลทางเศรษฐกิจ, พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และ เสริมสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและปลอดภัย ในปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม
ที่มาของการก่อตั้ง APEC
แนวคิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจ APEC ได้ถูกกล่าวถึงในครั้งแรกโดย Bob Hawke อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ซึ่งเรียกร้องความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคที่มีเสถียรภาพมากขึ้นระหว่างการเยือนประเทศเกาหลีใต้ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2532 นำไปสู่การประชุมของ 12 ชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันที่กรุงแคลเบอร่า เมืองหลวงของประเทศออสเตรเลีย ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย
ต่อมาประเทศจีน ฮ่องกง และ จีนไทเป ได้เข้าร่วมในปี พ.ศ. 2534 ส่วนประเทศเม็กซิโกและปาปัวนิวกินีได้ตัดสินใจเข้าร่วมในปี พ.ศ. 2536 ตามมาด้วยประเทศชิลีในปี พ.ศ. 2537 และสามประเทศล่าสุดที่เข้าร่วมเขตเศรษฐกิจ APEC ได้แก่ เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ในปี พ.ศ. 2541
ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2532 ถึง 2535 การประชุม APEC เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐสมาชิกและรัฐมนตรี แต่ในปี พ.ศ. 2536 Bill Clinton อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เสนอให้จัดการประชุม APEC เป็นการประชุมของผู้นำชาติสมาชิกอย่างเป็นทางการในทุก ๆ ปี เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกลยุทธ์และทิศทางความร่วมมือในภูมิภาค
ความร่วมมือหลักภายใน APEC
APEC ส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงเคลื่อนย้ายการลงทุนและประชากรที่ง่ายขึ้นภายในภูมิภาค โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วยการลดขั้นตอนทางศุลกากร ส่งเสริมการทำธุรกิจของชาติสมาชิก และ สร้างข้อกฎหมายที่มีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมทักษะทางด้านดิจิทัลให้แก่ชุมชนห่างไกล และช่วยผู้หญิงในชนเผ่าที่อยู่ห่างไกลมีรายได้จากการส่งออกสินค้าพื้นเมือง นอกจากด้านเศรษฐกิจ สมาชิก APEC ยังส่งเสริมความร่วมมือด้านการลดกระทบจากสถาวะโลกร้อน โดยการออกนโยบายการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าไม้และท้องทะเลอย่างยั่งยืน
APEC 2022 ที่ไทย
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) ปี 2565 ที่ กรุงเทพ ฯ ต่อจากการประเทศนิวซีแลนด์ที่จัดการประชุมในปีที่ผ่านมา โดยมีแนวคิดหลักคือ เปิดกว้าง เชื่อมโยง และ สมดุล (Open Connect Balance) ซึ่งเป็นมุ่งเน้นการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและแนวคิดใหม่ ๆ (Open to all opportunities) ฟื้นฟูความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่าน การท่องเที่ยว การลงทุน และ เศรษฐกิจดิจิทัล (Connect in all dimensions) และส่งเสริมความสมดุลทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม (Balance in all aspects)
Reference:
- กระทรวงการต่างประเทศ. (2565). 2022 Thailand Priorities. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3AoyHaN
- APEC Secretariat. (2565). History. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3TI76Im
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา. (2565). ประเทศไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC). ปี 2565 สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565, จาก https://bit.ly/3Gn3jNJ