CSR คืออะไร? ทำไมนิยมทำ CSR แม้กฎหมายไม่บังคับ

CSR หรือ Corporate Social Responsibility หมายถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร โดยจะต้องดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี รับผิดชอบสังคมและสิ่งวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ทำไมต้องมี CSR

เหตุที่ต้องมี CSR ก็เพราะว่าองค์กรไม่สามารถประกอบการได้หากไม่มีสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การทำ CSR จึงมีแนวคิดเป็นรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้งานขององค์กรสามารถดำเนินไปได้ในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นจะเสียกำไรไปก็ตาม

ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบังคับให้องค์กรต่าง ๆ ต้องทำ CSR แต่ทว่าองค์กรชั้นนำส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการทำ CSR ค่อนข้างมาก เพราะอยากร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และอยากสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่เลือกอุดหนุนองค์กรที่มีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากความคาดหวังของลูกค้าที่จะให้องค์กรรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นนั่นเอง

4 ระดับของ CSR

การทำ CSR มีด้วยกัน 4 ระดับ ซึ่งประกอบด้วยระดับต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  1. ระดับ 1: ข้อกำหนดตามกฎหมาย (Mandatory Level) หมายถึง ธุรกิจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแรงงาน การจ่ายภาษี เป็นต้น
  2. ระดับ 2: ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Elementary Level) หมายถึง ธุรกิจจะต้องคำนึงถึงความสามารถในการอยู่รอดและให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น โดยกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจจะต้องมิใช่กำไรที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนสังคม
  3. ระดับ 3: จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Preemptive Level) หมายถึง การที่ธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราส่วนที่เหมาะสม และผู้ประกอบธุรกิจได้ใส่ใจเพื่อให้ประโยชน์ตอบแทนแกสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมใกล้เคียงที่คาดหวังว่าจะได้รับการดูแลจากผู้ประกอบธุรกิจ
  4. ระดับ 4: ความสมัครใจ (Voluntary Level) หมายถึง ธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางของ CSR ด้วยความสมัครใจโดยไม่ได้ถูกร้องขอจากสังคม ซึ่งดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการมุ่งประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ

กิจกรรมของ CSR ทำอะไรได้บ้าง

กิจกรรม CSR สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ โดยรวมแล้วสามารถแบ่งกิจกรรม CSR ได้ 5 ลักษณะดังนี้

  1. การบริจาคเพื่อการกุศล (PhilanthropicCSR) เป็นกิจกรรมเพื่อการกุศล ในรูปแบบของการบริจาคเงินโดยตรง หรือบริจาคตามความต้องการของสังคม
  2. ความรับผิดชอบสังคมต่อสิ่งแวดล้อม (EnvironmentalCSR) เป็นกิจกรรมเน้นส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ลดขยะ ลดองเสีย ลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
  3. จริยธรรมในองค์กร (EthicalCSR) มุ่งเน้นสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจ เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมที่สุดท่าที่จะเป็นไปได้ ตั้งแต่ระดับพนักงานไปจนถึงผู้บริโภค
  4. การรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านการกุศล ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมด้านการแบ่งปัน การบริจาคเงินแก่องค์กรเพื่อการกุศล หรือการมีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ ในระดับชุมชน ท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนกิจกรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นต้น
  5. การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community VolunteeringCSR) เป็นกิจกรรมอาสาสมัครในรูปแบบการระดมพนักงาน หรือคู่ค้าธุรกิจสละเวลาหรือแรงงานเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงองค์กร

ซึ่งกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นวิธีการให้องค์กรเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับชุมชน ตลอดจนสร้างสัมพันธ์กับพนักงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อสังคมองค์กรชั้นนำ

เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพชัดเจนว่า CSR คืออะไร และทำไมองค์กรหรือธุรกิจจึงต้องทำ CSR
จึงขอยกตัวอย่างของการทำ CSR ขององค์การชั้นนำในแต่ละประเภทที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งมีตัวอย่างที่น่าสนใจดังนี้

PTTGC จัดโครงการด้านสิ่งแวดล้อม จัดตั้งจุดรับพลาสติกสะอาดเพื่อนำมาคัดแยกและรีไซเคิลใหม่อีกครั้ง ในโครงการ YOUเทิร์น เทียบเท่าการลดการตัดต้นไม้ใหญ่ 114,927 ต้น โดยการรวบรวมพลาสติกที่ใช้แล้ว สู่กระบวนการคัดแยกและส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลเม็ดพลาสติกของ GC เพื่อนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆต่อไป

บริษัท Unilever ได้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายแบบกระป๋องฉีด เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการขนส่ง ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง แต่ยังคงมีปริมาณน้ำยาดับกลิ่นเท่าเดิม การทำเช่นนี้ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการฉีดลดลง 25% ต่อกระป๋อง และยังประหยัดพื้นที่ในการขนส่งและใช้รถบรรทุกน้อยลงอีกด้วย

Starbucks เลือกซื้อวัตถุดิบเมล็ดกาแฟโดยตรงจากชาวไร่ไม่ผ่านคนกลาง เพื่อให้พวกเขาได้มีรายได้มากขึ้น เป็นต้น

Google ดำเนินกิจกรรมเพื่อการกุศลผ่านทาง google.org เพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ดีขึ้น โดยใช้เงินบริจาคมากกว่า $100 ล้าน นอกจากนี้ Google ยังลดช่องว่างของชุมชนด้อยโอกาสในอินเดีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีขึ้น โดยจัดทำห้องสมุดระบบคลาวด์นอกจากนี้ Google ยังทำโครงการอาสาสมัครโดยให้พนักงานอุทิศเวลาทำงานได้มากถึง 20 ชั่วโมง เพื่อเป็นอาสาสมัครในชุมชนของพวกเขาในแต่ละปี เป็นอีกองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมด้าน CSR หลายประเภททีเดียว

LUSH แบรนด์สินค้าออร์แกนิคชื่อดังจากอังกฤษ รณรงค์ไม่ใช้สัตว์ในการทดลอง ขณะเดียวกันก็มีความตั้งใจดำเนินธุรกิจอย่างยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับการทำ CSR ด้านจริยธรรมที่เข้มแข็ง โดยจัดหาวัตถุดิบจากผู้ผลิตโดยตรง ทำให้ซัพพลายเออร์มั่นใจได้ว่าจะได้รับราคาที่ยุติธรรม อีกทั้ง LUSH เองก็จะได้วัตถุดิบที่ปลอดภัยและเครื่องสำอางมีคุณภาพ

แหล่งอ้างอิง
  1. ดร.วรพรรณ เอื้ออาภรณ์. 2558. รูปแบบและประเภทความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร. วารสาร TPA news หน้า 19-21
  2. PTT Global Chemical. YOUเทิร์น. เข้าถึงได้จาก https://sustainability.pttgcgroup.com/th/projects/8/youเทิร์น

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general