Design Thinking คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร พร้อมตัวอย่าง

กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) คือ กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางที่ดีที่สุด โดยการแก้ไขปัญหาจะเน้นไปที่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งโดยรวมแล้วอาจหมายถึงกระบวนการทำความเข้าใจปัญหาของผู้ใช้ และนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ผ่านขั้นตอน 5 ขั้นตอนด้วยกัน ได้แก่ การเข้าใจ นิยาม สร้างสรรค์ จำลอง และทดสอบ ซึ่งกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ถือเป็นกระบวนการสร้างนวัตกรรมอย่างหนึ่งเช่นกัน

ปัญหาของผู้ใช้ที่กล่าวถึงนี้ คือ สิ่งที่เราจะต้องใช้ระบบ Design Thinking ค้นหาและทำการแก้ไขึ่งขั้นตอนส่วนใหญ่จะเป็นการถามคำถาม เกี่ยวกับปัญหาของผู้ใช้ และวิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบัน การนำเอาระบบ Design Thinking นิยมใช้กับการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ ทั้งนี้เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ใช้มากที่สุด ในบางครั้งผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาหรือตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้ หากเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นหรือมีมาก่อนก็อาจจะเรียก นวัตกรรมได้เช่นกัน

5 ขั้นตอน กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

หลักการและกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking Process) มีรูปแบบขั้นตอนสากลด้วยกัน 5 ขั้นตอน ประกอบด้วยดังนี้

  1. เข้าใจปัญหา (Empathize) เป็นขั้นตอนทำความเข้าใจปัญหาในทุกแง่มุม รวมถึงการเข้าใจกลุ่มผู้ใช้หรือผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ซึ่งการพยายามจะทำความเข้าใจคำถามอาจเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม สร้างสมมติฐาน เพื่อหาแนวทางไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหา
  2. กำหนดปัญหาให้ชัดเจน (Define) เมื่อเราทราบปัญหาที่ชัดเจน และสามารถวิเคราะห์มันได้อย่างรอบด้านแล้ว ให้นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้ปัญหาที่แท้จริง กำหนดหรือบ่งชี้ปัญหาชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป
  3. ระดมความคิด (Ideate) เป็นการนำเสนอแนวความคิดและแนวทางการแก้ปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ โดยไม่มีกรอบข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ควรมีการระดมความคิดหลากหลายมุมและหลากหลายวิธีการ ซึ่งการระดมความคิดจะช่วยให้เรามองปัญหาได้รอบด้านและละเอียด อีกทั้งยังช่วยทำให้ค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างรอบคอบอีกด้วย
  4. สร้างต้นแบบที่เลือก (Prototype) การสร้างต้นแบบเพื่อทดสอบและนำไปผลิตจริงในขั้นตอนต่อไป ขั้นนี้จึงเป็นขั้นตอนของการปฏิบัติตามแนวทางที่ได้คิดและวางแผนเอาไว้
  5. ทดสอบ (Test) นำต้นแบบที่ได้หรือข้อสรุปที่ผ่านการคิดวิเคราะห์ไปลองปฏิบัติจริงก่อน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและประเมินผล จากนั้นจึงนำผลที่ได้มาปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปใช้จริง

ตัวอย่างบริษัทที่นำหลักการ (Design Thinking) ไปใช้

ตัวอย่างที่น่าสนใจของบริษัทที่ได้นำหลักการและกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ไปใช้เช่น

บริษัท Airbnb บริษัทให้บริการเช่าที่พัก ที่ในช่วงแรกประสบปัญหายอดการเข้าพักย่ำแย่มาก แต่สิ่งที่เจ้าของบริษัททำคือ การออกไปคุยกับลูกค้า และให้ลูกค้าทดลองเล่นเว็บ Airbnb ให้ตนเองดู จากนั้นเขาจึงค้นพบว่าปัญหาหลักที่ทำให้ยอดเข้าพักน้อย เพราะภาพที่ใช้ในการนำเสนอไม่สวย ดังนั้นสิ่งที่ Airbnb ทำก็คือ การออกไปถ่ายภาพให้ชัดเจนและสวยงามมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทให้เช่าที่พักส่วนใหญ่ไม่ทำกัน การแก้ไขปัญหาเช่นนี้ทำให้ยอดการเช่าที่พักของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

Nike ได้ได้นำหลักการ (Design Thinking) มาพัฒนาสินค้า เพื่อให้ทีมงานทุกคนเข้าใจผู้ใช้มากที่สุด โดยให้พนักงานลองใส่รองเท้าวิ่ง และร่วมกันระดมความคิดเห็น และออกแบบรองเท้ารุ่นใหม่ เพื่อหาความสวยงามของรองเท้ากับฟังก์ชั่นการใช้งาน

Pepsi ได้นำหลักการดังกล่าวเช่นเดียวกันมาใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ที่ไม่เน้นความสวยงาม แต่ต้องการให้บรรจุภัณฑ์เต็มไปด้วยความรู้สึก ทั้งนี้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และความประทับใจให้ผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ จึงได้ให้พนักงานหาแรงบันดาลใจด้วยการถ่ายรูปสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวแล้วนำมาต่อยอดจนกลายเป็นตู้กดน้ำ Pepsi Spire ในที่สุด

ประโยชน์ของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

  • ฝึกการแก้ไขปัญหาที่เป็นลำดับขั้นตอน โดยกระบวนการนี้จะทำให้เรามองเห็นอย่างรอบคอบมากขึ้น แก้ไขปัญหาได้ค่อนข้างตรงจุดมีทางเลือกหลายทาง และจะพบตัวเลือกที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด
  • ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ระดมความคิด ซึ่งจะทำให้สมองของเราฝึกคิดได้หลากหลายรูปแบบและวิธีการ ทำให้เราพบวิธีแปลกใหม่ จนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ได้เช่นกัน
  • องค์กรทำงานเป็นระบบมากขึ้น เนื่องจากบุคลากรถูกฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบ จะส่งเสริมการทำงานที่ดี ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรและองค์กรอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
  1. Rikke Friis Dam and Teo Yu Siang. 5 Stages in the Design Thinking Process. เข้าถึงได้จาก https://www.interaction-design.org/literature/article/5-stages-in-the-design-thinking-process
  2. Christopher Pappas. The Top 6 Benefits of Design Thinking in eLearning. เข้าถึงได้จาก https://elearningindustry.com/the-top-6-benefits-of-design-thinking-in-elearning

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general