Letter of Credit คืออะไร มีประเภทอะไรบ้าง

          หลาย ๆ บริษัทที่ประกอบธุรกิจการค้าและกำลังเติบโต จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งด้านกำลังคนหรือด้านกระจายสินค้าและส่งออก อีกปัจจัยหนึ่งที่จะขาดไม่ได้คือ เงินลงทุน ที่ใช้หล่อเลี้ยงธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ และแหล่งเงินทุนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มาในรูปแบบ Letter of Credit (L/C) ก็กำลังเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับในภาคธุรกิจในต่างประเทศเป็นอย่างมาก เรามาทำความรู้จัก L/C ให้มากขึ้น ว่าจริง ๆ แล้ว L/C นี้คืออะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรกับธุรกิจเราบ้าง

Letter of Credit คืออะไร?

          Letter of Credit (L/C) หรือเรียกอีกอย่างว่า ตราสารเครดิต คือ การที่ผู้ซื้อสินค้า ยืมเงินจากธนาคารไปชำระค่าสินค้าก่อน แล้วผู้ซื้อสินค้าค่อยจ่ายเงินคืนให้กับธนาคารพร้อมดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยที่เราจ่ายคืนนั้น ก็คือค่าธรรมเนียมของการทำ L/C นั่นเอง นอกจากนี้ธุรกรรมในรูปแบบ L/C ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ขายสินค้า ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการได้รับเงิน แต่ทั้งนี้ธนาคารจะไม่มีส่วนรับผิดชอบในกรณีที่สินค้าเกิดความเสียหาย หรือเกิดปัญหากับตัวสินค้า ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เอง

ประเภทของ Letter of Credit มี 2 ประเภท คือ

  1. ประเภทเพิกถอนได้ (Revocable Letter of Credit) คือ เมื่อผู้ซื้อติดต่อธนาคารเพื่อขอเปิด L/C ให้ผู้ขาย ผู้ซื้อหรือธนาคารผู้เปิด L/C มีสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือแจ้งยกเลิก L/C เมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้ขายหรือธนาคารฝ่ายผู้ขายยินยอม ทำให้ผู้ขายมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกยกเลิกการซื้อ ดังนั้นผู้ขายควรหลีกเลี่ยงการเปิด L/C ประเภทนี้
  2. ประเภทเพิกถอนไม่ได้ (Irrevocable Letter of Credit) คือ เมื่อธนาคารของผู้ซื้อทำการเปิด L/C แล้ว ผู้ซื้อหรือธนาคารผู้เปิด L/C จะไม่สามารถทำการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใด ๆ ใน L/C ฉบับนั้นได้หากผู้ขายไม่ยินยอม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ขายที่ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกยกเลิกสินค้า

ข้อดีของ Letter of Credit

  • ลดความเสี่ยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หากไม่มีการแลกเปลี่ยนสินค้า ตามที่ระบุไว้ใน L/C ทางธนาคารจะไม่มีการโอนเงิน ซึ่งเป็นการรักษาสิทธิของทั้งสองฝ่าย
  • อำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อ ในกรณีที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
  • ทำให้ธุรกิจระหว่างประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะมีธนาคารเป็นตัวกลางในการรับชำระเงิน
  • ผู้ซื้อสามารถยืดเวลาในการชำระเงินได้ 30-90 วัน ซึ่งผู้ซื้อเองก็ได้ประโยชน์จากการหมุนเงินแบบมีเครดิต

ข้อเสียของ Letter of Credit

  • ธนาคารจะคิดค่าใช้จ่ายในการทำ L/C เป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าธุรกรรม ยิ่งธุรกรรมมีมูลค่าเยอะ ค่าใช้จ่ายก็จะเยอะตามไปด้วย
  • การดำเนินการเพื่อขอเอกสาร ต้องมีค่าเสียเวลาและค่าเดินเอกสาร
  • มีความผันแปรของค่าเงินต่างประเทศ แม้ในสัญญาของ L/C จะระบุชัดเจนของค่าเงินและเวลาที่ต้องชำระแต่ก็ยังมีความเสี่ยงของความผันแปรของค่าเงินอยู่ตลอดเวลา

ถึงแม้ว่าการทำ Letter of Credit จะต้องใช้เวลา ในการทำเอกสาร และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่เพื่อความสบายใจของผู้ทำธุรกิจทั้งสองฝ่าย L/C ก็ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะช่วยลดความเสี่ยง และยังสร้างเครดิตให้กับทั้งผู้ซื้อผู้ขายอีกด้วย

 

 

References:

  • Tiger.  (2564).  Letter of Credit คืออะไร และสำคัญยังไงสำหรับการทำธุรกิจกันแน่.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/37j17ru
  • Hps-trade.  (2562).  L/C (Letter of Credit) คืออะไร? วัตถุประสงค์,ความหมาย และ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง.  สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3L3zP6I
  • ธรรมนิติ.  (2564).  Letter of Credit สำคัญอย่างไรในการทำธุรกิจ?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3jJzxpK




วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general