กล้วย เป็นไม้ล้มลุกที่พบเห็นได้ทั่วไปในบริเวณเขตร้อน ทุกส่วนของกล้วยนับตั้งแต่ใบ, ต้น, ดอก, ผล สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย สายพันธุ์ของกล้วยมีมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นสายพันธุ์ที่เราคงจะคุ้นเคยกันดี คือ กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้ามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Musa ABB ถ้าพูดถึงกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นหนึ่งในพืชประจำบ้านของคนไทย ผลกล้วยน้ำว้า ถือว่าเป็นอาหารอย่างแรก ๆ ที่ได้เราลิ้มชิมรสทานกันสมัยตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากแม่จะนำช้อนมาขูดและบดกล้วยน้ำว้าแล้วนำมาป้อนให้เราทาน เพราะกล้วยน้ำว้าเป็นแหล่งของธาตุอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์แก่ลูกน้อยนั่นเอง
กล้วยน้ำว้าหนึ่งผลให้พลังงานได้ถึง 100 กิโลแคลอรี มีน้ำตาลอยู่ 3 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น ซูโครส, ฟรุคโตส และกลูโคส รวมไปถึงเส้นใย, กากอาหาร และอุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมาย มีดังนี้
- วิตามินบี 6 ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิต้านทานร่างกาย
- มีวิตามินบี 1 และบี 2 ที่ช่วยในการเร่งเผาผลาญ น้ำตาลและไขมัน, ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากการเหนื่อยล้า
- มีกรดอะมิโน อาร์จินิน และอีสติดิน ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มีในน้ำนมแม่ ซึ่งมีความจําเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก ถึงเป็นเหตุผลที่ว่าทําไมตอนเด็ก ๆ ผู้ใหญ่ถึงให้เรากินกล้วยบด เพราะอุดมด้วยสารอาหารและวิตามินที่จําเป็นต่อร่างกายเรานั้นเอง
- สารทริปโตเฟน ในกล้วยน้ำว้าห่าม กรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนเอ็นโดรฟีน ทำให้อารมณ์ดี, ทำให้รู้สึกสงบ, ผ่อนคลาย, ขจัดความเครียด, ช่วยให้หลับสบาย และช่วยต้านภาวะซึมเศร้าได้ด้วย
- สารเพคติน ทำหน้าที่เป็นตัวเพิ่มใยอาหารให้กับลำไส้ เมื่อลำไส้มีกากอาหารมาก จะไปดันผนังลำไส้ ทำให้ผนังลำไส้เกิดการบีบตัว จึงทำให้รู้สึกอยากถ่าย
- มีกากใยชนิดเพกติน ไฟเบอร์สูง (ประมาณ 0.9 กรัมต่อปริมาณกล้วย 1.8 ช้อนชา) ช่วยดีท็อกซ์ลำไส้, ลำไส้สะอาด, แก้ท้องผูก, กระตุ้นการขับถ่าย, ทำให้อุจจาระนุ่ม, ขับถ่ายง่าย, ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ โรคกระเพาะ มะเร็งตับ และบรรเทาอาการโรคริดสีดวงทวาร
- สารแทนนิน ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย, ช่วยเคลือบกระเพาะ และช่วยป้องกันผนังกระเพาะลำไส้ถูกทำลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
- สารฟลาโวนอยด์ ที่มีสรรพคุณต่อต้านอนุมูลอิสระ, ลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งต้านการอักเสบ และลดอาการปวดข้อเข่า เป็นต้น ซึ่งสารฟลาโวนอยด์ในกลุ่มผลไม้ที่มีเนื้อสีขาวอย่างกล้วย ก็มีอยู่หลายชนิดเลยด้วย
- สารเบต้าแคโรทีน (ประมาณ 22 มิลลิกรัมต่อกล้วย 40 กรัม) และวิตามินซีสูง (ประมาณ 4 มิลลิกรัม) และสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอวัย, ลดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า, ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง, มีน้ำมีนวล นำกล้วยสุกมาบดให้ละเอียด เติมน้ำผึ้ง คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วน้ำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 15 – 20 นาที จากนั้นล้างออก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวลดความหยาบกร้านบนผิวได้
- มีน้ำตาลกลูโคสและฟรุกโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยว เมื่อกินเข้าไปแล้วร่างกายนำไปใช้ได้ทันที ทำให้รู้สึกมีแรง ควรกินก่อนออกกำลัง หรือกินก่อนมื้ออาหาร 1 ผล ทำให้ กินข้าวต่อมื้อลดลง และลดความอยากอาหาร
- มีแคลเซียมสูง ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนและผู้หญิงสูงอายุ
- แมกนีเซียมและโพแทสเซียม (ประมาณ 128 กรัม) ที่ช่วยในการป้องกันการเกิดโรคความดัน โดยจะช่วยขับโซเดียมออกจากร่างกายผ่านเหงื่อ, ปัสสาวะ และส่งผลให้ลดการบวมของร่างกายได้
- ธาตุเหล็กในกล้วยน้ำว้าห่าม ป้องกันโรคโลหิตจาง, ช่วยกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบิน
- แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซี ช่วยในการบำรุงเหงือกและช่วยป้องกันฟันผุ
กล้วยน้ำว้าสามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ หรืออาการเจ็บหน้าอกจากการไอแห้ง ๆ , ช่วยลดกลิ่นปากได้ดี, เป็นยาระบายช่วยแก้ท้องผูก หรือระบบขับถ่ายไม่ปกติ เนื่องมาจากสารอาหารที่กล่าวมานี้มีในกล้วยน้ำว้า ซึ่งเป็นพืชสามัญประจำบ้านของคนไทย เพราะด้วยประโยชน์ที่เรียกได้ว่ามากมาย แม้เพียง 1 ลูกของกล้วยน้ำว้าเมื่อเทียบกับสารอาหารที่เราได้แล้วล่ะก็ สารอาหารที่ว่าก็ไม่ใช่กล้วย ๆ เลย
Reference:
- Kapook. (2564). กล้วยน้ำว้า สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นผลไม้มีฤทธิ์ เป็นยาที่ควรกินให้ได้ทุกวัน. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3vbukNE
- โรงพยาบาลเขลางค์นคร-ราม. (2561). กล้วยน้ำว้าช่วยป้องกันโรค. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3vepQ8T
- ไทยรัฐออนไลน์. (2563). เคล็ดลับกินกล้วยน้ำว้า คุณประโยชน์ป้องกันโรค 15 ชนิด ลดน้ำหนัก ชะลอวัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565, จาก https://bit.ly/3v6V7dJ