พันธกิจ (Mission) คืออะไร ? ทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย

          พันธกิจ หรือ Mission เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงคุ้นเคย และได้ยินคำนี้บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นตามหน่วยงานราชการ, โรงเรียน, บริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ นอกจากคำว่าพันธกิจ แล้วยังมีคำว่า “วิสัยทัศน์ (Vision)” และ “เป้าหมาย (Goal)” เพิ่มเข้ามาอีกด้วย จนบางครั้งเราเองก็สับสนไม่น้อย เพราะว่าความหมายของทั้งสามคำนี้ก็ดูใกล้เคียงกันจนแทบแยกไม่ออกว่าอะไรคือเส้นชัยกันแน่

               บทความนี้ วิชาการ จะพามาทำความรู้จักกับคำว่า พันธกิจ ให้มากขึ้น ว่าเนื้อหาสาระ ใจความสำคัญ และความหมายของคำนี้คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไร ? และทำไมต้องมีพันธกิจ

พันธกิจ (Mission) คืออะไร ? ทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย

พันธกิจ คืออะไร ?

          พันธกิจ (Mission) คือ ภารกิจย่อยหลาย ๆ อย่างที่ต้องทำให้สำเร็จในระยะกลาง เพื่อทำให้เป้าหมายหลักระยะยาว หรือวิสัยทัศน์ (Vision) สำเร็จ เพื่อนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ตามวัตถุประสงค์ขององค์กร

            พันธกิจ เป็นขอบเขตในการดำเนินงาน และเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงวิธีการ ที่องค์กรจะดำเนินการเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ หากวิสัยทัศน์เปรียบเสมือนจุดหมายปลายทาง พันธกิจก็เหมือนแผนการที่จะนำองค์กรให้ไปถึงจุดหมายนั้น และยังบ่งบอกได้ด้วยว่าองค์กรนั่น ๆ ต้องทำอะไรและต้องการที่จะเป็นอะไร

ความสำคัญของพันธกิจ

          จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พันธกิจจะมีขอบเขตในการดำเนินงานที่เล็กลง, ชัดเจนมากกว่า, เป็นไปในทิศทางเดียวกับวิสัยทัศน์ และอะไรก็ตามที่สนับสนุนให้เกิดวิสัยทัศน์ หรือนำไปสู่การเกิดวิสัยทัศน์ แต่ถ้าหากไม่มีการกำหนดพันธกิจที่ชัดเจนก็จะทำให้ การไปถึงเป้าหมายของเรานั้นไร้ทิศทางนั่นเอง

ทำไมต้องมีพันธกิจ ?

  • เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กร
  • เพื่อกำหนดบริบทให้บุคลากรในองค์กรทราบว่าแต่ละท่านจะมีส่วนร่วม ที่จะทำให้องค์กรมุ่งไปสู่เป้าหมายปลายทางได้อย่างไร
  • ช่วยกระตุ้นให้บุคลากรขององค์กรมีความตระหนัก ผูกพัน และมุ่งมั่นปฏิบัติ
  • สื่อสารให้องค์กรภายนอก หรือคู่ค้าทางธุรกิจทราบถึงบทบาท และส่วนร่วมในการผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย

องค์ประกอบสำคัญของพันธกิจ

            การทำพันธกิจให้มีประสิทธิผลที่ดี ต้องมีองค์ประกอบหลัก 4 ข้อ คือ

  1. วัตถุประสงค์ (Purpose): บริษัทตั้งขึ้นเพื่ออะไร?
  2. กลยุทธ์ (Strategy): ตำแหน่งในการแข่งขัน และความสามารถที่โดดเด่นของกิจการ
  3. ค่านิยม/ความเชื่อ (Values): บริษัทมีความเชื่อมั่นในสิ่งใด?
  4. ค่ามาตรฐานและพฤติกรรม: นโยบายและแบบแผนทางด้านพฤติกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความสามารถที่โดดเด่น และระบบค่านิยมของกิจการ

ทำอย่างไรให้พันธกิจบรรลุเป้าหมาย ?

  1. บริษัทหรือหน่วยงานนั้น ๆ ควรกำหนดขอบเขตให้เหมาะสมกับการดำเนินงานหรือธุรกิจของตัวเอง โดยทำวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนขององค์กร (SWOT Analysis)
  2. เราต้องทำความเข้าใจกับบริบทของบริษัทหรือหน่วยงานตัวเอง ว่าสิ่งที่เราทำในตอนนี้คืออะไรทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  3. เราต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายทุก ๆ กลุ่มเป้าหมายอย่างเท่าเทียมกัน
  4. พันธกิจที่ดี จะช่วยสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับองค์กรนั้น ๆ
  5. ควรให้ความสำคัญกับลูกค้า ผู้รับบริการ หรือตลาด มากกว่าการให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์
  6. ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถหลัก (Core Competences) ขององค์กร
  7. ควรกำหนดจากความเป็นจริงขององค์กร และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
  8. สอดคล้องกับค่านิยมร่วมของบุคลากรในองค์กร (Shared Values)
  9. สอดคล้องกับเป้าหมายที่วัดผลได้ ของกิจการ (KPI=Key Performance Indicator)
  10. ได้รับการเผยแพร่อย่างทั่วถึง และเป็นที่เข้าใจของบุคลากรทุกคนในองค์กร

 


References:

  • อนุรักษ์ พูลศรี. (2564).  พันธกิจคืออะไร มีองค์ประกอบอย่างไร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 02 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3iW47vM.
  • K.pair. (2561).  พันธกิจคืออะไร? Mission หรือพันธกิจบอกอะไร.  สืบค้นเมื่อวันที่ 02 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3u1mPbS.
  • Kawin on Tour. (2562).  ความสัมพันธ์ ระหว่าง วิสัยทัศน์ พันธกิจ และ เป้าหมาย Vision,Mission,Goal.  สืบค้นเมื่อวันที่ 02 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3Dy4W7z.

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general