มือใหม่อยากเริ่มกินเจ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรดี

          ใกล้สิ้นสุดเทศกาลกินเจของปีนี้แล้ว ซึ่งปีนี้ก็ตรงกับวันที่ 25 กันยายนถึง 4 ตุลาคม 2565 บทความนี้ วิชาการ จะพามารู้จักกับการกินเจ ไปจนถึงข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวในการกินเจ สำหรับใครที่สนใจอยากจะเริ่มต้นกินเจหรืออยากเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับการกินเจในปีหน้า ซึ่งเมื่อเข้าสู่เทศกาลกินเจ ทุกปี ๆ จะมีร้านอาหารหลาย ๆ ร้านปรับเปลี่ยนเมนูในร้านของตนเพื่อให้เข้ากับเทศกาลกินเจ พร้อมกับติดธงสีเหลืองที่มีตัวอักษรจีนสีแดง ของคำว่า “เจ” อยู่ด้วย แต่การกินเจไม่ใช่เพียงแค่การงดเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีข้อปฏิบัติอื่น ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจกันอีก จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูรายละเอียดกันได้เลย

“เจ” คืออะไร?

          คำว่า “เจ” อักษรจีนเขียนแบบนี้ 齋 เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายว่า “สักการบูชาด้วยความบริสุทธิ์” หรือ “อุโบสถ” หรือ “การรักษาศีล 8” โดยอ้างอิงการแปลตามหลักของนิกายมหายาน จะมีการรักษาอุโบสถศีล ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิต โดยเทศกาลกินเจจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ ในเดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี ซึ่งตรงกับเดือน 10 หรือเดือนตุลาคมของไทย รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 9 วัน โดยส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเห็นการใช้ “ธงเจ” เป็นสัญลักษณ์ของการเตือนสติผู้ที่ถือศีลกินเจให้ปฏิบัติตัวดี ทั้งกาย วาจา ใจ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ติดไว้ตามสถานที่หรือร้านอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจเสมอ


การล้างท้อง

          สำหรับมือใหม่ที่ต้องการกินเจในปีนี้ อาจจะยังสงสัยว่า คำว่า “ล้างท้อง” คืออะไร? ทำไมต้องล้างท้องก่อน

  • “การล้างท้อง” เป็นการลดการรับประทานเนื้อสัตว์ เพิ่มการรับประทานผัก ถือเป็นการปรับสมดุลของร่างกาย ปรับระบบการย่อย เพื่อให้ร่างกายพร้อมรับ กับเทศกาลกินเจ
  • ข้อแนะนำของกรมอนามัย ระบุว่า ควรล้างท้องก่อนเริ่มเทศกาลกินเจ 2 วัน และต้องค่อย ๆ ปรับลดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อ ไปจนถึงการงดรับประทาน เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้ปรับตัว เนื่องจากหากร่างกายยังปรับตัวไม่ทัน อาจจะมีอาการวิงเวียนและหิวบ่อย
    • ยกตัวอย่างเช่น การปรับเมนูอาหารทีละน้อย เปลี่ยนจากการทานเนื้อสัตว์ไปเป็นไข่หรือนมวัว, รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือปรับเปลี่ยนมารับประทานอาหารจำพวกเต้าหู้ เห็ด หรือโปรตีนเกษตรแทน เป็นต้น 
  • สำหรับมือใหม่ของการกินเจปีแรกปีนี้ ควรลองกินซัก 3-5 วัน ก็เพียงพอ ไม่ควรเคร่งจนเกินไป


ประโยชน์ของการกินเจ

  • สุขภาพดี เนื่องจากในอาหารเจมักจะมีส่วนประกอบของผัก เห็ด เต้าหู้ ธัญพืช ฯลฯ ถือว่าเป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง ทำให้อิ่มท้อง รวมถึงย่อยได้ง่ายกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ ทั้งยังช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยในการขับถ่าย และช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
    • หมายเหตุ ตามความเชื่อของชาวจีนที่เป็นต้นกำเนิดของการกินเจ เชื่อว่าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มีความเป็น “หยิน” ส่วนอาหารจำพวกผักผลไม้นั้นมีความเป็น “หยาง” โดยธรรมชาติมนุษย์มักทานเนื้อสัตว์ในสัดส่วนที่มากกว่าผักผลไม้ ดังนั้นการหันมาเน้นการทานผักผลไม้ในช่วงเทศกาลกินเจนี้ ก็จะสามารถรักษาสมดุลระหว่างธาตุ “หยิน” และ “หยาง” ได้) 
  • ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง เนื่องจากเราจะได้รับวิตามินจากการรับประทานผัก ผลไม้ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวพรรณ
  • ลดอัตราเสี่ยงการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ ความดัน มะเร็ง ไขมันอุดตันในเส้นเลือด เป็นต้น
  • ลดน้ำหนักได้ หากเลือกการรับประทานผักและธัญพืชมากขึ้น รวมถึงเน้นการทานเมนูอาหารเจที่ปรุงด้วยวิธีต้มและนึ่ง แทนการรับประทานอาหารเมนูที่ใช้การผัดหรือทอด อีกทั้งหากทำร่วมกับการออกกำลังกายด้วยแล้วล่ะก็ รับรองผลเลย
  • จิตใจผ่องใส สุขภาพจิตดีขึ้น เนื่องจากในช่วงของการทานเจ การถือศีลก็เป็นเรื่องสำคัญ การรักษาศีล ประพฤติตัวเป็นคนดีทั้งกาย วาจา ใจ จึงส่งผลต่อจิตใจ ทำให้จิตใจผ่องใส เบิกบาน มีความสุขจากการได้ทำความดี


อาหารที่ห้ามรับประทานในช่วงเทศกาลกินเจ

  • เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์หรือได้มาจากสัตว์ เช่น ไข่, นม, เนย เป็นต้น
  • ผักที่มีกลิ่นฉุน ได้แก่ กระเทียม, หอมใหญ่, หอมแดง, ต้นหอม, กุยช่าย และใบยาสูบ ฯลฯ เนื่องจากเป็นผักที่มีรสหนัก มีกลิ่นรุนแรง จึงอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของผู้กินเจได้ และทำลายสมดุลย์ธาตุในร่างกาย 
  • อาหารที่มีรสจัด
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์


          บางคนคิดว่าการกินเจเป็นแค่การทำตามเทรนด์ หรือทำตามที่เค้าฮิตกันเพียงเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ตัดสินใจเข้าร่วมการรับประทานอาหารเจในเทศกาลกินเจนี้ ถือเป็นการทำบุญรักษาศีลที่ยิ่งใหญ่อีกทางหนึ่ง การปฏิบัติจิตใจไม่ให้เบียดเบียนสัตว์ และงดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ถือว่าเป็นบุญกุศลสำหรับเรา เพียงแค่จิตใจของเราตั้งใจความดีเพียงเท่านี้ ก็ทำให้จิตใจเราเบิกบานผ่องใส และที่สำคัญสุขภาพที่ดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการกินเจด้วยเช่นกัน

 



Reference:

  • Opor P. Suthini.  (2561).  กินเจ ต้องเตรียมตัวอย่างไร? วิธีการล้างท้องก่อนจะกินเจ Vegetarian Festival.  สืบค้นเมื่อ 02 ตุลาคม 2565 จาก https://bit.ly/3StWb57
  • Sanook.  (2565).  เทศกาลกินเจ 2565 เริ่มวันที่เท่าไร ควรเตรียมตัวอย่างไรกับเทศกาลกินเจ.  สืบค้นเมื่อ 02 ตุลาคม 2565 จาก https://bit.ly/2Pi6cBY
  • วรุณรัตน์ คัทมาตย์.  (2565).  เทศกาลกินเจ 2565 เริ่มวันที่เท่าไร ควรเตรียมตัวอย่างไรกับเทศกาลกินเจ.  สืบค้นเมื่อ 02 ตุลาคม 2565 จาก https://bit.ly/3V7nGU2

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general