ในโลกของการทำธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องบริหารกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้ว ยังต้องวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้อีกด้วยและหากใครที่ทำธุรกิจมานาน หรือรับช่วงธุรกิจต่อจากครอบครัวก็อาจจะมีบางครั้งที่รู้สึกว่าธุรกิจของเราเริ่มมียอดขายและลูกค้าลดลง หรือเริ่มสู้ในการแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ และเมื่อสัญญาณนี้มาถึง ก็อาจถึงเวลาต้องทำ Business Go-around ก่อนที่ธุรกิจเราจะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
โดยการทำ Business Go-around คืออะไร ? มีรายละเอียดแบบไหน วันนี้ตาม วิชาการ ไปศึกษาเรื่อง Business Go-around กันได้เลย
รู้จัก “Business Go-around” พาธุรกิจกลับไปเหินฟ้าอีกครั้ง
“Business Go-around” คืออะไร ?
การทำ Business Go-around คือ การปรับธุรกิจที่เริ่มมีศักยภาพในการประกอบกิจการลดลง เช่น กำไรลดลง, ยอดขายลดลง, หรือเริ่มแข่งขันสู้คู่แข่งไม่ได้ แม้กระทั่งสินค้าและบริการที่ธุรกิจเคยมีเป็นจุดเด่นถูกทดแทนด้วยสินค้าและบริการอื่น ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า ฯลฯ ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อกลับมาแข่งขันได้ และสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปตลอดจนมีผลกำไรมาหล่อเลี้ยงเหมือนเดิม
ควรทำ “Business Go-around” เมื่อไหร่ ?
หลายคนอาจมีความเข้าใจผิดว่าเราจะต้องทำ Business Go-around ก็ต่อเมื่อธุรกิจของเราเริ่มตกต่ำ หรือไม่สามารถทำกำไรต่อไปได้แล้ว แต่บอกเลยว่าคิดผิดถนัด เนื่องจากหากเราทำ Business Go-around ตอนที่ธุรกิจของเราเริ่มตกต่ำแล้ว เราจะขาดทั้งเวลา, ขาดทั้งเงินทุน, ขาดทั้งกำลังใจ ในการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจ และมัวแต่ยุ่งแต่การประคองธุรกิจของเราให้อยู่รอดให้ได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นการทำ Business Go-around จะต้องทำตอนที่ธุรกิจของเรากำลังรุ่งเรืองอยู่ ที่เรามีทั้งเวลา, เงินทุน และโอกาสมากมายที่จะหาช่องทางพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจของเรา ว่าในอนาคตจะมีธุรกิจ, สินค้า, นวัตกรรมอะไรที่จะมาต่อยอดให้ธุรกิจของเรารุ่งเรืองต่อไปได้
รู้จักประเภทของการทำ “Business Go-around”
สำหรับการทำ Business Go-around มีหลากหลายวิธี โดย วิชาการ ขอแนะนำรูปแบบการทำ Business Go-around ดังนี้
1. การพัฒนาธุรกิจเดิม
หากมองว่าธุรกิจของเรายังพอมีลูกค้าหรือสินค้าและบริการยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ ก็อาจปรับปรุงพัฒนาธุรกิจเดิมให้มีศักยภาพการทำธุรกิจมากขึ้น อย่างการขยายช่องทางออนไลน์ให้ลูกค้าเข้าถึงได้มากขึ้น, การเพิ่มรูปแบบการบริการใหม่ ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น
- ร้านขายของชำที่เพิ่มโต๊ะให้ลูกค้าสามารถนั่งทานสุรา, เบียร์ และมีกับแกล้มบริการ
- ร้านขายเครื่องสาน ที่เปิดช่องทางการขายออนไลน์และส่งขายไปทั่วโลก
- ร้านขายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาจำหน่ายในร้านด้วย
โดยขอสรุปการพัฒนาธุรกิจเดิมสามารถทำได้ ดังนี้
- การขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้า
- การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ
- การขยายหรือย้ายสาขาไปยังพื้นที่ที่ยังต้องการสินค้าและบริการของเราอยู่
- การหาหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะมาเสริมศักยภาพธุรกิจของเรา
2. การย้ายไปสู่ธุรกิจใหม่
หากธุรกิจของเราไม่สามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้แล้ว โดยสินค้าและบริการของเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แล้ว หรือธุรกิจของเราไม่สามารถมีศักยภาพสู้คู่แข่งขันได้อีกต่อไป การย้ายไปสู่ธุรกิจใหม่อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เช่น
- ร้านขายหนังสือที่ปรับปรุงเปลี่ยนไปเป็นร้านกาแฟ ที่มีหนังสือให้ลูกค้าได้เข้าไปนั่งอ่าน
- โรงสีเก่าที่ปรับปรุงไปเป็นคาเฟ่
- ร้านขายยาที่ย้ายจากตัวจังหวัดไปยังอำเภอห่างไกล