โอโซนคืออากาศบริสุทธิ์ ยิ่งสูดเยอะยิ่งดี จริงหรือไม่ ?

          เราคงเคยได้ยินประโยคหลายประโยคที่พูดถึงบ่อยๆ เวลาที่ออกไปท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น “ออกไปเที่ยวไปรับโอโซนกันเถอะ”ไปสูดโอโซน รับอากาศบริสุทธิ์กันเถอะ” แต่ ! แน่ใจแล้วหรือว่า โอโซนคืออากาศบริสุทธิ์จริง ? เราลองมาทำความเข้าใจโอโซนกันใหม่อีกทีดีกว่านะ

โอโซน คืออะไร ?

            โดยทั่วไป โอโซน (Ozone หรือ O3) จะอยู่ในสถานะเป็นก๊าซ ประกอบจากออกซิเจน 3 อะตอมรวมตัวกัน พบมากในส่วนชั้นบรรยากาศที่เรียกว่า “สตราโตสเฟียร์ (Stratosphere)” ซึ่งห่างจะพื้นผิวโลก ประมาณ 10-60 กิโลเมตร

            หน้าที่หลักที่สำคัญของโอโซน ก็คือ การกรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ไม่ให้ตกลงสู่โลกได้โดยตรง โอโซนถือว่าเป็นหนึ่งในสารมลพิษ เช่นเดียวกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, คาร์บอนมอนออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น

โอโซนเกิดจากที่ไหน ?

1. เกิดได้จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ – ยกตัวอย่างเช่น แสงจากดวงอาทิตย์ ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ฯลฯ โดยจะมีแสงสว่างเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา

2. มนุษย์สร้างขึ้น – อาจโดยการใช้รังสีอัลตราไวโอเลตหรือใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงให้ออกซิเจนในอากาศเกิดปฏิกิริยากลายเป็นโอโซน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ เช่น เกิดจากควันของรถยนต์ หรือเกิดจากกระบวนการผลิตจากแหล่งอุตสาหกรรม เป็นต้น

ความสำคัญของก๊าซโอโซน ?

  • กรองรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงอาทิตย์ – เพื่อไม่ให้รังสีดังกล่าวส่องลงมายังโลกในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลตเป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยโอโซนสามารถแตกตัวกลายเป็นก๊าซออกซิเจนได้ โดยพบว่า
    • โอโซนสามารถ กรองรังสี UV-A (320-400 nm) ได้ประมาณร้อยละ 5
    • โอโซนสามารถ กรองรังสี UV-B (280-320 nm) ได้ประมาณร้อยละ 95
    • โอโซนสามารถ กรองรังสี UV-C (100-280 nm) ได้ประมาณร้อยละ 100
  • โอโซนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ – โอโซนความเข้มข้น 0.01-0.04 PPM มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค จึงนำมาเป็นส่วนประกอบในการฆ่าเชื้อน้ำดื่ม (น้ำดื่มฆ่าเชื้อด้วยโอโซน) รวมถึงการใช้น้ำที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยโอโซน นำไปใช้ในการล้างทำความสะอาดภาชนะเครื่องแก้ว จาน ชาม พืช ผัก ผลไม้
  • โอโซนทำลายเชื้อแบคทีเรีย – โดยมีการใช้เครื่องผลิตโอโซนมาตั้งไว้ในห้องขณะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ในห้อง หรือ รถยนต์ เพื่อกำจัดกลิ่นเหม็นอับ กลิ่นอาหาร ที่อาจจะเกิดจากแบคทีเรีย โอโซนจะทำลายเชื้อแบคทีเรีย ทำให้กลิ่นดังกล่าวลดลงไปได้
  • โอโซนช่วยลดการปนเปื้อน – ช่วยในการฟอกสีและบำบัดน้ำเสียให้น้ำใส และสะอาดขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้าง
  • ใช้ในด้านอุตสาหกรรม – โดยใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์, เป็นส่วนประกอบในการผลิต ทั้งเครื่องฟอกอากาศ, เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
  • ใช้เป็นตัววัดมลพิษทางอากาศ – เนื่องจากโอโซนเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดของมลพิษประเภทสารอนุมูลอิสระในบรรยากาศ

โอโซนอันตรายหรือไม่ ?

          แม้ว่าโอโซนที่อยู่บริเวณชั้นบรรยากาศ เป็นโอโซนที่ดี (Good Ozone) มีประโยชน์ในการกรองรังสีจากดวงอาทิตย์ แต่โอโซนที่อยู่ระดับพื้นผิวโลก ที่อยู่รอบตัวมนุษย์เรา (สูงไม่เกิน 2 กิโลเมตร) ถือว่าเป็นโอโซนที่ไม่ดี (Bad Ozone) เป็นก๊าซพิษ ถือว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ไม่ควรสูดดม

              หากโอโซนอยู่ในระดับความเข้มข้นที่ 0.25 ppm ขึ้นไปจะก่อให้เกิดความระเคืองต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตา จมูก มีอาการแสบจมูก และระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ สามารถทำลายเนื้อเยื่อโพรงจมูกและปอด รวมถึงหากร่างกายได้รับมาปริมาณมากสามารถมีผลทำให้มีอาการข้างเคียงได้ เช่น ปวดหัว แน่นท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน จนไปถึงทำให้เสียชีวิตได้ และหากมีการสัมผัสโอโซนในรูปของของเหลวที่ความเข้มข้นสูงทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนจนถึงอาการไหม้รุนแรงได้

ข้อควรระวังของการนำโอโซนมาใช้

  1. หลีกเลี่ยงการสูดดมโอโซนโดยตรง หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีปริมาณโอโซนมาก : เนื่องจากส่วนใหญ่โอโซนสามารถเข้าร่างกายโดยผ่านการสูดดม ผ่านโพรงจมูก หลอดลม แพร่เข้าสู่เส้นเลือด ไปจนถึงปอด 
  2. ไม่ควรใช้โอโซนมากจนเกินไป : เนื่องจากโอโซนมีปฏิกิริยาว่องไวมาก สามารถทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ ในอากาศ ทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ได้
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง : ในบางรายที่มีอาการแพ้ อาจได้รับผลข้างเคียงมากกว่าคนธรรมดา และอาจมีผลทำให้เสียชีวิตได้

          จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ โอโซนถือว่าเป็นสารที่มีประโยชน์หากใช้ให้ถูกทาง แต่อย่างไรก็ตามเราคงต้องกลับมาคิดกันใหม่อีกทีกับการที่จะใช้คำว่า “การสูดโอโซน สูดอากาศบริสุทธิ์” ซึ่งจะเห็นได้ว่า นั่นเป็นคำพูดไม่ถูกต้องเลย

 

 

Reference:

  • สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้.  (2566).  โอโซน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566, จากhttps://9va6.short.gy/qv7qKl
  • สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท).  (2566).  16 กันยา วันโอโซนโลก.  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566, จาก https://9va6.short.gy/Ln3RDD
  • หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี.  (2566).  โอโซน.  สืบค้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566, จากhttps://shorturl.at/ksOZ5

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general