เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา วิชาการ ได้นำเสนอความรู้เกี่ยวกับสิทธิของประกันสังคมมาตรา 33 ที่มนุษย์เงินเดือนอาจจะคุ้นกัน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ 8 สิทธิประโยชน์สำคัญ ๆ ที่ลูกจ้างประกันสังคมต้องรู้ !) สำหรับวันนี้เรามาต่อกันด้วยสิทธิของประกันสังคมมาตรา 39 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับพนักงานที่มีประกันสังคม มาตรา 33 แล้วออกจากงาน แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ควรรู้ จะมีอะไรบ้างนั้น ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
“ประกันสังคมมาตรา 39” คืออะไร?
มาตรา 39 เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อให้พนักงานที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายเงินสมทบก่อนออกจากงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน แล้วลาออก (ออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน) แต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคม โดยได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่
- กรณีเจ็บป่วย
- กรณีทุพพลภาพ
- กรณีคลอดบุตร
- กรณีตาย
- กรณีสงเคราะห์บุตร
- กรณีชราภาพ
ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
สมัคร “ประกันสังคมมาตรา 39” ช่องทางไหนได้บ้าง ?
- ณ สำนักงานประกันสังคม : ยื่นใบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบสปส. 1-20 ) ด้วยตนเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นยื่นแทนภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน
- สมัครทางออนไลน์ : ผ่านระบบ SSO E-SERVICE ที่เว็บไซต์ https://www.sso.go.th/wpr/main
เงินสมทบที่ส่งเดือนละ 432 บาท ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ มาจากเงินเดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 X 9% = 432 บาทต่อเดือน)
จ่ายเงินสมทบ “ประกันสังคมมาตรา 39” ที่ไหนได้บ้าง ?
.
- สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ
- หักบัญชีเงินฝากธนาคาร (Direct Debit) 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทยธนชาต และธนาคารกรุงเทพ
- ร้าน 7-eleven และร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ Counter Service (โลตัสและบิ๊กซี)
“ประกันสังคมมาตรา 39” มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง?
- กรณีเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ ได้สิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมคล้ายมาตรา 33 รวมถึงค่าถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด 900 บาทต่อครั้งต่อปี
- กรณีคลอดบุตร ซึ่งผู้ประกันตนจะต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนที่จะคลอด ซึ่งจะได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งเบิกได้ 13,000 บาทต่อครั้ง อีกทั้งผู้ประกันตนฝ่ายหญิงจะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นเวลา 90 วัน (เบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง) รวมถึงค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานประกันสังคม
- กรณีสงเคราะห์บุตร ที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 12 เดือนภายใน 36 เดือนก่อนบุตรคลอด จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 600 ต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน ครั้งละไม่เกิน 3 คน จากแรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์
- กรณีทุพพลภาพ กรณีที่ผู้ส่งสมทบมาไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายใน 15 เดือนก่อนจะทุพพลภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับค่าใช้จ่าย คือ
- ค่าใช้จ่ายในกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายของผู้ทุพพลภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เกิน 40,000 บาทต่อราย
- ค่าอวัยวะเทียม + อุปกรณ์
- ค่าพาหนะรับ – ส่งผู้ทุพพลภาพ เดือนละ 500 บาท
- กรณีชราภาพ ซึ่งผู้ประกันตนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนของประกันสังคมมีสิทธิได้รับเงินชราภาพ คือ
- อายุครบ 55 ปี สมทบไม่ครบ 180 เดือนได้บำเหน็จ
- อายุครบ 55 ปี สมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไปได้บำนาญ โดยคำนวณคล้าย มาตรา 33
- กรณีตาย สำหรับผู้ประกันตนที่สมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตายจะได้รับ
- ค่าทำศพ 50,000 บาท
- ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ ดังนี้
- สมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป (3 ปีขึ้นไป) แต่ไม่ถึง 120 เดือน (10 ปี) ได้รับ 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบโดยเฉลี่ยรายเดือน x 4
- สมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป (10 ปีขึ้นไป) ได้รับ 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบโดยเฉลี่ยรายเดือน x 12
หมดสภาพการเป็นผู้ประกันตนตาม “ประกันสังคมมาตรา 39” เมื่อไหร่ ?
- เสียชีวิต
- กลับไปเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (คือกลับเข้าทำงานกับสถานประกอบการที่มีนโยบายมาตรา 33)
- ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน
- ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)
- ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน)
Reference:
- สำนักงานประกันสังคม. (2562). คู่มือผู้ประกันตน. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566, จาก https://bit.ly/3ovKC3D
- Money buffalo. (2566). ประกันสังคมมาตรา 39 จ่ายเท่าไหร่ สรุปสิทธิประโยชน์ล่าสุด. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566, จาก https://bit.ly/3NznVW9
- PPTVHD36. (2565). เช็กสิทธิผู้ประกันตน ม.39 ในระบบประกันสังคม ได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566, จาก https://bit.ly/3NznVW9