จ็อบ ฮ็อปเปอร์ (Job Hopper) เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกกลุ่มคนวัยทำงานที่เปลี่ยนงานบ่อย สาเหตุของการเปลี่ยนงานบ่อยอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น งานที่ทำอยู่หมดความท้าทาย, ไม่ลงรอยกับเพื่อนร่วมงาน, บริษัทที่ทำอยู่ปิดตัว, ปรับโครงสร้างบริษัท หรือย้ายที่อยู่อาศัย เป็นต้น นอกจากนี้คนที่เปลี่ยนงานบ่อย อาจจะได้งานที่มีสัญญาจ้างเป็นพนักงานชั่วคราว เมื่อจบโครงการหรือทำงานที่ได้รับจ้างไว้สำเร็จ จึงจำเป็นต้องหางานใหม่
คำว่า “Job Hopper” เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 โดยผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า กลุ่มคนที่อยากเปลี่ยนงานบ่อย ๆ มีภาวะที่เรียกว่า “Hobo Syndrome” ตรงข้ามกับค่านิยมทั่วไปที่ถือว่า การทำงานในที่ใดเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ถือเป็นเรื่องน่ายกย่องว่าเป็นผู้อุทิศตนและซื่อสัตย์ต่อองค์กร ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ล้าหลังในสายตาคนทำงานรุ่นใหม่ ด้วยสภาวะตลาดแรงงานในปัจจุบัน ที่มีคนทำงานไม่เพียงพอต่อตำแหน่งงานที่ว่าง ทำให้อิสระในการเลือกทำงานมีมากขึ้น บทความนี้ วิชาการ จึงอยากพามาดูข้อดีและข้อเสียของการเปลี่ยนงานบ่อย ว่ามีอะไรบ้าง ไปดูรายละเอียดกันได้เลย
ข้อดีของการเปลี่ยนงานบ่อย
1. ได้ค่าตอบแทนที่สูงมากขึ้น
- การย้ายที่ทำงานหรือเปลี่ยนงาน เป็นวิธีการที่เร็วที่สุดในการเพิ่มเงินเดือน โดยทั่วไปแล้ว เงินเดือนจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 20-30% ซึ่งสูงกว่าการขึ้นเงินเดือนประจำปีอยู่ที่ 5-7% ในตำแหน่งเดิมที่ทำ
2. ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
- โดยปกติแล้ว คนที่เปลี่ยนงานบ่อย จะมีทักษะ ความสามารถมากกว่าเมื่อเทียบกับคนทำงานในองค์กรเดียวเป็นเวลาหลายปี ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับงานในบริษัทที่ดีและตำแหน่งที่สูงขึ้น นอกจากนี้ หากการเลื่อนขั้นหรือปรับเปลี่ยนตำแหน่งในองค์กรมีความเชื่องช้า การอยู่ตำแหน่งเดิมนาน ๆ อาจจะทำให้เสียโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
3. ได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
- การทำงานที่เดิมเป็นเวลานาน เปรียบเสมือนเป็นการปิดกั้นโลกทัศน์ของตัวเองให้แคบลง เนื่องจากไม่มีโอกาสได้ไปลองเรียนรู้หรือลองทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งอาจทำให้ไม่รู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไรบ้าง หรือแท้จริงแล้วตัวเองต้องการหรือสนใจอะไรกันแน่ การเปลี่ยนงาน จึงเป็นหนทางเพื่อแสวงหางานใหม่ที่มีความท้าทายหรือตรงต่อความต้องการของตัวเอง ถือเป็นการค้นหาตัวเอง ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง รวมถึงเป็นการเปิดมุมมองชีวิตให้กว้างขึ้นด้วย
4. สามารถกำหนดการเติบโตในสายงานได้
- ในอีกมุมหนึ่ง การเปลี่ยนงานบ่อย เกิดจากการที่คนทำงานต้องการกำหนดทิศทางอาชีพของตน เมื่อตัวเลือกในการทำงานมีมากขึ้น จึงเป็นอีกปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดการเปลี่ยนงานบ่อย เนื่องจากทำให้เรามีสิทธิเลือกนายจ้าง เลือกผู้ร่วมงาน เลือกสภาพแวดล้อมการทำงานได้ด้วยตัวเอง
ข้อเสียของการเปลี่ยนงานบ่อย
1. ความรับผิดชอบเกินตัว
- การได้งานที่ให้ค่าตอบแทนสูงขึ้น ย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบ หรือภาระงานที่มากขึ้นด้วย หากเรายังไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ในตำแหน่งนั้น ๆ มากพอ อาจจะทำให้รู้สึกกดดัน ทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือเครียดกับความคาดหวังในตัวงานที่สูงขึ้นด้วย
2. ไม่คุ้มค่าในการจ้างงาน
- ในมุมของนายจ้าง แม้เราจะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ เหมาะกับงานที่สมัคร แต่การเป็น Job Hopper อาจทำให้นายจ้างต้องคิดอีกรอบก่อนที่จะตกลงรับเราเข้าทำงาน เนื่องจากต้องคำนวณความคุ้มค่า เพราะบริษัทต้องเสียเวลาและทรัพยากรในการประกาศหาคน จัดสัมภาษณ์ และฝึกอบรมจนสามารถทำงานได้ แต่เมื่อเราลาออกในระยะเวลาไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี จึงถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และไม่เหมาะสมต่อการจ้างงานนั่นเอง
3. สะท้อนถึงความไม่อดทนต่อการทำงาน
- การเปลี่ยนงานบ่อย ๆ อาจจะเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่า เราเป็นคนไม่มีความอดทนในการทำงาน ยอมแพ้ หรือลาออกเมื่อเผชิญกับปัญหาในที่ทำงาน แทนที่จะหาทางแก้ไข
4. ต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
- การเปลี่ยนงานบ่อย ๆ ไปในสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำเมื่อต้องเริ่มต้นกับที่ทำงานใหม่ นั่นก็คือ การปรับตัว ซึ่งช่วงแรกอาจทำให้เกิดความประหม่า ไม่มั่นใจ หรือเกิดความกังวลบ้าง เนื่องจากเรายังไม่รู้ว่าต้องไปเจอกับผู้คนในที่ทำงานแบบใด งานจะตรงต่อความต้องการของเราไหม แล้วสภาพแวดล้อมหรือวัฒนธรรมขององค์กรเป็นแบบใด จะเหมาะสมกับเราหรือไม่ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างท้าทายในช่วงแรกเลยทีเดียว
References:
- Brand Case. (2564). รู้จัก “Job Hopper” กลุ่มคนชอบเปลี่ยนงานบ่อย ที่สาเหตุ อาจไม่ได้มีแค่เรื่องเงิน. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3VnbDlv
- BBC. (2565). ผิดหรือเปล่าที่คนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อยมากขึ้น. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2565, จาก https://bbc.in/3g7tJYr
- Liz Ryan. (2559). Ten Reasons Successful People Change Jobs More Often. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2565, จาก https://bit.ly/3rQhORw