สอบผ่านภาค ก แล้ว ต้องทำอย่างไรต่อ ถึงจะได้เป็นข้าราชการ?

        ช่วงที่ผ่านมาผลการ “สอบ ก.พ. ภาค ก ” ก็ได้ทยอยประกาศผลการสอบออกมาแล้ว โดยผู้เข้าสอบระบบ E-Exam จะได้รับผลสอบก่อนคนที่สอบระบบ Paper & Pencil ซึ่งผู้เข้าสอบแบบกระดาษนั้นจะต้องรอลุ้นผลการสอบในวันที่ 13 กันยายน สำหรับใครที่ผิดหวังในรอบนี้ก็ยังสามารถสมัครสอบรอบต่อไปในปีหน้าได้ ส่วนใครที่สอบผ่านแล้ว วิชาการขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ และคำถามที่สำคัญต่อมา คือ เมื่อสอบผ่าน ภาค ก แล้ว ขั้นต่อไปคืออะไร ? และผลสอบภาค ก สามารถสมัครงานอะไรได้บ้าง ? วันนี้ วิชาการ ได้รวบรวมคำตอบเพื่อไขข้อข้องใจให้ทุกท่านได้ทราบกัน
          ก่อนอื่นต้องขอย้อนกลับไปสักนิดก่อนว่า การสอบ “กพ ภาค ก” นั้น เป็นด่านแรกของผู้ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นข้าราชการ โดยเป็นการทดสอบความรู้ใน 3 วิชา คือ

  1. วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์
  2. วิชาภาษาอังกฤษ
  3. วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี

          หากสนใจรายละเอียดของการสอบภาค ก สามารถติดตามบทความ รวมเทคนิคดี ๆ พิชิตข้อสอบ กพ. ห้ามพลาด ปี 2023 ได้เลย

ผ่านการสอบภาค ก แล้ว ขั้นต่อไปคืออะไร ?

ขั้นตอนที่ 1 : พิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบ

          ขั้นตอนแรกหลังจากทราบผลว่าเราสอบผ่านภาค ก แล้ว คือ การพิมพ์ใบรับรองผลการสอบผ่านความรู้ความสามารถทั่วไป จากสำนักงาน ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) โดยผู้ที่สอบแบบ E-Exam ก็คงสามารถพิมพ์ผลการสอบได้เป็นที่เรียบร้อย แต่สำหรับผู้สอบแบบ Paper & Pencil อาจจะต้องรอพิมพ์ใบรับรองในวันที่ 22 กันยายน ซึ่งผู้ที่สอบผ่านสามารถพิมพ์หนังสือรับรองได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

    • ผ่านทางเว็บไซต์ขอสำนักงาน ก.พ.

      1. เข้าเว็บไซต์ https://job.ocsc.go.th/
      2. สมัครสมาชิกและ Log in เข้าเว็บไซต์
      3. เลือกไปที่ “พิมพ์หนังสือรับรองการสอบผ่านฯ”
      4. เลือกไอคอน “พิมพ์”
    • ผ่านทางแอปพลิเคชัน “JOB OCSC”

      1. ติดตั้งแอปฯ “JOB OCSC” (รองรับทั้งระบบ Android และ iOS)
      2. สมัครสมาชิกและ Log in (หากเคยสมัครผ่านเว็บไซต์มาแล้วสามารถใช้ Log in เดิมได้เลย)
      3. เลือกเมนู “หนังสือรับรองการสอบผ่านฯ” และสั่ง “พิมพ์”

ขั้นตอนที่ 2 : ค้นหาตำแหน่งงานราชการ

          ขั้นต่อมา คือ การค้นหาตำแหน่งงานข้าราชการที่ใช่ และกรมที่ชอบ โดยแต่ละกรม แต่ละกระทรวงจะโพสต์ประกาศตำแหน่งข้าราชการที่รับสมัครที่เว็บไซต์ https://job.ocsc.go.th ซึ่งเราก็ต้องหมั่นเข้าเช็กว่ามีตำแหน่งงานที่เราอยากสมัครหรือไม่ โดยตำแหน่งที่เรามักจะเห็นกันบ่อย ๆ เช่น

      • นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ
      • นักทรัพยากรบุคคลปฏิบัติการ 
      • นักวิชาการตรวจสอบภายในปฏิบัติการ
      • พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ
      • เภสัชกรปฏิบัติการ
      • นักวิเทศสัมพันธ์ปฏิบัติการ
      • นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ
      • นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ

ชั้นตอนที่ 3 : ตรวจเช็กคุณสมบัติและสมัครสอบภาค ข

           เมื่อเราเจอตำแหน่งและกรมที่ถูกใจ ขั้นต่อมา คือ เช็คว่าวุฒิและคุณสมบัติของเราตรงกับที่ทางกรมกำหนดหรือไม่ ถ้าเรามีคุณสมบัติตามประกาศ เราก็สามารถสมัครได้เลย โดยมีขั้นตอน ดังนี้

  1. เตรียมเอกสาร : โดยเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือรับรองการสอบผ่านฯ (ตัวจริงและสำเนา) ไปสมัครสอบที่หน่วยงานราชการที่รับสมัคร (ทั้งนี้ต้องดูกำหนดการให้ดี ว่าทางกรมให้ยื่นเอกสารวันไหน)
  2. เตรียมตัวสอบภาค ข : โดยการสอบจะเป็นการวัดความรู้เฉพาะทางขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานที่สมัคร ซึ่งปกติขอบเขตของเนื้อหาจะระบุไว้ในประกาศรับสมัคร รูปแบบการสอบมีทั้งแบบปรนัยและอัตนัย คะแนนเต็ม 200 คะแนน
  3. เข้าสอบภาค ข ตามวันที่กำหนด
  4.  

ขั้นตอนที่ 4 : เตรียมตัวสอบภาค ค

           ขั้นตอนสุดท้ายของการสมัครเข้ารับข้าราชการ คือ การสอบภาค ค ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ที่มีจุดมุ่งหมายประเมินผู้สมัครจากการตอบคำถาม อีกทั้งประเมินลักษณะนิสัยว่าเหมาะกับตำแหน่งหรือไม่

           สำหรับใครที่อยากสอบผ่านด่านแรก คือ ภาค ก แล้วละก็ อย่าลืมอ่านหนังสือและเตรียมความพร้อมไว้ให้มาก ๆ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านสำหรับการเตรียมพร้อมกับทุก ๆ สนามสอบ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้านะคะ

 

 

Reference:

  • ช่องยูทูป สำนักงาน ก.พ.  (2564).  สอบภาค ก แล้วไงต่อ?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566, จาก https://bit.ly/43UZuaC
  • วรุณรัตน์ คัทมาตย์.  (2566).  ‘สอบ ก.พ.66’ ใบรับรองผลการสอบ ก.พ. ใช้ยื่น ‘สมัครงาน’ อาชีพไหนได้บ้าง?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566, จาก https://shorturl.at/iHW07
  • Daisy.  (2565).  ไขข้อสงสัย สอบ ก.พ. ภาค ข คืออะไร? ทำตำแหน่งอะไรได้บ้าง?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566, จาก https://shorturl.at/fOR29

วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general