การหางานในยุคปัจจุบันมีคู่แข่งมากขึ้น ทำให้เราเริ่มกังวลกับการหางาน แม้ว่าเราจะมีทักษะมากมายและมีการพัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่สม่ำเสมอเพื่อให้เราโดดเด่น และเป็นตัวเลือกมากขึ้นที่จะได้รับงานนั้น ๆ นอกจากความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของเราแล้ว การสัมภาษณ์งานก็มีส่วนที่จะทำให้เราได้งานเช่นกัน เพราะมีหลายคนที่ตกม้าตาย ไม่ผ่านการสัมภาษณ์ ซึ่งหลายบริษัทก็มีเกณฑ์หรือข้อกำหนดที่แตกต่างกัน ดังนั้นใครที่อยากได้งานที่ชอบ จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการสัมภาษณ์ดังนี้
การเตรียมตัวเข้าสัมภาษณ์งาน
- ให้แนะนำตัว: การแนะนำตัวทั่วไปเพื่อให้รู้จักผู้สมัครมากขึ้น เช่น ชื่อ-นามสกุล, อายุ, การศึกษา, ทำงานที่ไหน, ตำแหน่งงานในปัจจุบัน, ฯลฯ
- เล่าประสบการณ์ทำงาน: ผู้สมัครเคยผ่านการทำงานที่ไหนมาบ้าง ทำตำแหน่งอะไร ขอบเขตงานที่ทำเป็นอย่างไร และมีประสบการณ์รวมกี่ปี
- บอกจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง: การบอกจุดแข็งและจุดอ่อนในด้านการทำงาน จะช่วยให้ฝ่าย HR ประเมินคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานได้ง่ายยิ่งขึ้น
- สาเหตุที่ลาออกจากที่ทำงานเก่า: ผู้สมัครต้องแจ้งเหตุผลว่าทำไมจึงอยากเปลี่ยนงานใหม่ ซึ่งคำตอบจะสะท้อนทัศนคติของตัวผู้สมัครเอง
- ทำไมจึงสนใจสมัครงานตำแหน่งนี้: ควรบอกเหตุผลด้านดี ไม่ควรพูดว่าร้ายให้บริษัทเก่าเสื่อมเสีย เช่น อยากทำงานที่ท้าทาย, มองหาความก้าวหน้า, สถานที่ทำงานใกล้บ้าน
- รู้จักองค์กรที่สมัครงานดีแค่ไหน: คำถามนี้ HR จะได้ประเมินว่า ตัวผู้สมัครเองมีความสนใจในงานและบริษัทที่สมัครไปมาก-น้อยแค่ไหน
- อธิบายขอบเขตงานที่ต้องรับผิดชอบ: การบอกขอบเขตงาน (Job Description) จะแสดงให้เห็นว่าคุณมีความเข้าใจในตำแหน่งงานที่สมัคร
- สิ่งที่มุ่งหวังในงานใหม่: คำตอบของคุณจะช่วยให้ HR ประเมินว่า ตำแหน่งและองค์กรนี้จะตอบโจทย์ความมุ่งหวังของผู้สมัครได้หรือไม่
- เงินเดือนที่คาดหวัง: หลายบริษัทให้ HR คัดเลือกผู้สมัคร โดยพิจารณาจากฐานเงินเดือนที่ต้องการด้วยว่า อยู่ในฐานที่โครงสร้างบริษัทกำหนดไว้หรือไม่
- ขอดูตัวอย่างผลงาน: เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น บางครั้งผู้สมัครจะต้องส่งตัวอย่างผลงานให้ทางบริษัทพิจารณาร่วมด้วย
การสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์
-
ตั้งสติและซ้อมพูดออกเสียง
การมีสติจะช่วยให้คุณใจเย็น, ไม่ร้อนรน, คิดอย่างรอบคอบก่อนตอบคำถามต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น ทางที่ดีควรดื่มน้ำและซ้อมพูดออกเสียง เพื่อช่วยลดความตื่นเต้นเมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์จริง -
เตรียมเรซูเม่ไว้ข้างตัว
วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถเล่าประสบการณ์ทำงานให้ผู้สัมภาษณ์ฟังอย่างไม่ติดขัด, ไม่ต้องเสียเวลานึกนาน, ไม่ลืมรายละเอียด ซึ่งจะช่วยให้การตอบคำถามมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น -
หาสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน
แม้จะเตรียมคำตอบไว้ดีแค่ไหน แต่หากสถานที่สำหรับใช้สัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์มีเสียงดังรบกวน ก็อาจทำให้การพูดคุยไม่น่าประทับใจ หรือส่งผลให้การสื่อสารมีความคลาดเคลื่อน -
พูดชัดถ้อยชัดคำ แสดงความมั่นใจ
น้ำเสียงที่สุภาพ เรียบเรียงประโยคได้เข้าใจง่าย พูดชัดถ้อยชัดคำ เป็นการแสดงความมั่นใจในสิ่งที่พูด ส่งผลดีต่อบุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสาร แม้จะไม่ได้พบหน้ากันก็ตาม -
เลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสม
ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ควรเลือกระดับภาษาให้เหมาะสม เป็นทางการ แต่ก็ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป และไม่ควรพูดแบบทีเล่นทีจริงจนหมดความน่าเชื่อถือ -
ไม่แสดงทัศนคติที่ไม่ดีต่อที่ทำงานเก่า
แม้ว่าบางครั้งคุณอาจมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายเก่า แต่ห้ามนำมาพูดในการสัมภาษณ์งานอย่างเด็ดขาด นอกจากจะไม่มีความเป็นมืออาชีพแล้ว ยังทำให้คะแนนคุณติดลบอีกด้วย -
พูดความจริง ไม่สร้างเรื่องโกหก
ไม่ควรพูดโกหก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว, ประวัติการศึกษา, ประสบการณ์ทำงาน เนื่องจาก HR สามารถแบล็กลิสต์คุณได้ หากสืบพบว่าคุณได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อการสมัครงาน -
เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด
การตอบคำถามแบบเป็นตัวของตัวเอง จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย และทำให้ทั้งฝ่ายคุณและผู้สัมภาษณ์ประเมินร่วมกันได้ ว่าคุณเหมาะกับการทำงานในตำแหน่งที่สมัครไว้หรือไม่ -
เตรียมคำถามที่สงสัยไว้ถาม
เมื่อใกล้จะสิ้นสุดการสัมภาษณ์ ทางฝ่าย HR มักจะเปิดโอกาสให้คุณถามคำถาม คุณควรเตรียมคำถามไว้เพื่อแสดงถึงความกระตือรือร้น เช่น ถามถึงความก้าวหน้าในตำแหน่ง ฯลฯ -
กล่าวขอบคุณผู้สัมภาษณ์
หลังการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แล้ว ควรกล่าวขอบคุณผู้สัมภาษณ์ที่มอบโอกาสให้ได้พูดคุย นอกจากแสดงถึงมารยาทที่ดีแล้ว ยังสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์อีกด้วย
Reference
- thairath. (2564). 10 เทคนิคสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ ตอบคำถามอย่างไรให้ได้งาน?. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3HUI4Sa
- หมีมีคำตอบ. (2564). วิธีสัมภาษณ์งานให้ผ่าน ฝึกตอบ 8 คำถามสุดหินเอาชนะใจ HR. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3xVOhIG
- jobsdb. (2560). ตอบคำถามสัมภาษณ์งานอย่างไรให้ถูกคัดเลือก ไม่ใช่คัดออก. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3Oqsj7O