จำนวนผู้ที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีมีไม่น้อย ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เป้าหมายของเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่นอกเหนือจากการเรียนต่อคือ การทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ, ใช้หนี้กู้ยืมการศึกษา, สร้างอนาคต, ฯลฯ ซึ่งงานก็มีมากมายหลายประเภท แล้วงานแบบไหนจึงจะเหมาะกับตัวเรา บทความนี้มีเทคนิคดี ๆ มาฝาก ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับลักษณะของงานแต่ละประเภทให้มากขึ้นกันก่อน
ลักษณะของงานมีอะไรบ้าง
-
งานรับราชการ
- เป็นงานที่ทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งได้รับเงินเดือนจากภาษีเงินได้ของประชาชน มีระยะเวลาทำงานที่แน่นอน จันทร์-ศุกร์ หยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ต้องมีการสอบบรรจุ ซึ่งมีอัตราการแข่งขันที่สูง เนื่องจากเป็นงานที่มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าค่อนข้างสูง มีบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุราชการ เช่น ครู, แพทย์, พยาบาล, ตำรวจ, ทหาร เป็นต้น
-
พนักงานรัฐวิสาหกิจ
- เป็นองค์กรธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 ได้รับเงินเดือนจากงบประมาณรายได้ของแผ่นดิน มีระยะเวลาทำงานแน่นอนเหมือนงานราชการ มีการสอบบรรจุเข้าทำงาน อัตราการแข่งขันสูง เนื่องจากมีความมั่นคง ความก้าวหน้าสูง เช่น พนักงานการไฟฟ้า, พนักงานการประปา เป็นต้น
-
พนักงานเอกชน
- เป็นงานที่ทำงานในหน่วยงานเอกชน บริษัท หรือโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างจากหน่วยงานนั้น ๆ มีระยะเวลาทำงานแน่นอน อาจจะหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือเฉพาะวันอาทิตย์ แล้วแต่หน่วยงานเป็นผู้กำหนด ถ้าทำงานวันหยุดหรือทำงานล่วงเวลาก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากเงินเดือน มีการทดสอบและสัมภาษณ์ก่อนเข้าทำงาน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับงาน เช่น นักบัญชี, วิศวกร, นักวิจัย, พัฒนา เป็นต้น
-
งานรับจ้างที่ทำเป็นกลุ่ม (งานรับเหมา)
- เป็นการทำงานตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ทำงานเป็นกลุ่มหรือทีม ระยะเวลาการทำงานไม่แน่นอน ถ้างานเร่งก็จะมีชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นเพราะต้องเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด การทำงานต้องสมัครกับผู้ว่าจ้างโดยตรง ความมั่นคงขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล เช่น วิศวกรควบคุมงาน, หัวหน้าคนงาน, ช่างต่าง ๆ เป็นต้น
-
งานรับจ้างที่ทำงานคนเดียว
- เป็นงานที่ทำตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งทำคนเดียว มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน ชั่วโมงทำงานไม่แน่นอนขึ้นกับงานที่ได้รับ วันหยุดไม่แน่นอน ความมั่นคงและความก้าวหน้าขึ้นอยู่กับผู้จ้างและความสามารถของผู้ปฏิบัติงาน เช่น ขายออนไลน์, ฟรีแลนซ์
สิ่งที่ควรพิจารณาเวลาเลือกงาน
-
เงินเดือน
- งานที่ทำควรมีผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าเช่าห้อง, ค่าเดินทาง, ค่าน้ำ, ค่าไฟ, หนี้สิน, ทุนการศึกษากู้ยืม (กยศ.) และอื่น ๆ ถ้าผลตอบแทนดี การทำงานก็มีความสุขไปด้วย
-
สวัสดิการ
- นอกจากเงินเดือนแล้ว สวัสดิการก็เป็นเรื่องสำคัญในการที่จะตัดสินใจเลือกงาน เพราะสวัสดิการดีก็จะเพิ่มความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการรักษาพยาบาล, ประกันสุขภาพ, เงินทุนตอนเกษียณอายุงาน
-
โอกาสในการก้าวหน้าและพัฒนา
- งานใด ๆ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนทำงานไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การอบรมต่าง ๆ ก็จะทำให้เรามีโอกาสในการก้าวหน้าในชีวิต และมีการพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวเราและหน่วยงานในอนาคต
-
สมดุลชีวิต
- การที่จะเลือกงานนั้น ๆ ต้องมองว่างานนั้นให้สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตทำงานหรือไม่ เพราะมีความสำคัญเป็นอย่างมากถ้าชีวิตมีแต่เวลางานแต่ไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีการผ่อนคลาย ก็จะทำให้เราทำงานแบบไม่มีความสุข
-
ชั่วโมงการทำงาน
- ชั่วโมงการทำงาน มีความสำคัญต่อการจัดการสมดุลระหว่างงานกับชีวิต ซึ่งถ้าชั่วโมงทำงานมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายหรือจิตใจ ดังนั้นชั่วโมงการทำงานก็เป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างในการเลือกงาน
-
วัฒนธรรมองค์กร
- วัฒนธรรมองค์กร คือ สภาพแวดล้อมทั้งหมดของการทำงาน ถ้าทำงานแล้วรู้สึกอึดอัดไม่มีความสุข ก็จะไม่สามารถทำงานในที่นั้น ๆ ได้ หรือทำได้ก็ไม่มีความสุขในการทำงาน ทำได้ไม่นานก็ลาออก ซึ่งการลาออกไม่ส่งผลดีต่อตัวเรา
-
ความชอบ
- การทำงานที่ใช่และที่ชอบก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่มีความสำคัญ ถ้างานที่ทำเป็นงานที่ชอบก็จะทำให้เราสามารถทำงานนั้น ๆ ออกมาได้ดีและมีความสุขในการทำงาน
สำหรับน้อง ๆ คนไหน ที่จบการศึกษาแล้ว ที่ไม่รู้ว่าจะเลือกทำงานแบบไหน หรืองานแบบไหนที่เหมาะกับตัวเรา ก็สามารถนำไปเป็นแนวทางในการเลือกทำงานได้ และหวังว่าใครที่กำลังหางานอยู่ คงจะได้งานที่ถูกใจในเร็ว ๆ นี้ นะคะ
Reference:
- พิศมัย บุณยโสภณ. (2565). ความรู้เกี่ยวกับงานอาชีพ. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/3R5oFRD
- JobsDB. (2561). 8 วิธีเลือกงานแรกที่ใช่. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/3TfaA60
- Cariber. (2564). 10 สิ่งคนรุ่นใหม่มองหาเมื่อเลือกงาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565, จาก https://bit.ly/3wrOyDs