โนโรไวรัส (Norovirus)โรคติดเชื้อในเด็กที่อันตราย พร้อมวิธีป้องกัน

          ไวรัส เป็นเชื้อโรคชนิดหนึ่งที่สามารถก่อโรคในคน สัตว์ พืช ได้ ที่มีการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง คนไทยและทั่วโลกต่างก็รู้จักส่วนใหญ่แล้วเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากมายที่รู้จักกันโดยทั่วไป เช่น ไข้หวัดธรรมดา, ไข้หวัดใหญ่, โควิด-19, โรค RSV ในเด็ก เป็นต้น โรคที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นโรคที่มีสาเหตุจากไวรัสทั้งสิ้น ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เมื่อไม่นานมานี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสในเด็กที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารที่เรียกว่า โนโรไวรัส ซึ่งเป็นโรคที่พบได้ทุกฤดู พบมากในฤดูหนาว วิชาการ มีสาระเกี่ยวกับโรคนี้ให้ทุกท่านได้อ่าน

โนโรไวรัสคืออะไร

          เป็นเชื้อไวรัสที่มีขนาดเล็ก ประมาณ 27 นาโนเมตร เดิมมีชื่อว่า Norwalk Virus เป็นไวรัสที่มีตัวให้อาศัยคือ คน หมู วัว ควาย หนู และมีรังโรคคือคนและหอย ก่อให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร มีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ โดยปกติสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปนอกร่างกายในอุณหภูมิห้องนานประมาณ 21-28 วัน สามารถระบาดได้ง่าย ในเวลาอันรวดเร็ว โดยผ่านการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน พบการระบาดได้ทุกฤดู แต่จะพบมากในฤดูหนาว

อาการเป็นอย่างไร

มีระยะฝักตัวของโรค 12-48 ชั่วโมง หลังได้รับเชื้อ ซึ่งมีอาการดังนี้

  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • อุจจาระเป็นน้ำ
  • อ่อนเพลีย
  • เป็นไข้ต่ำ ๆ
  • ปวดศีรษะและปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • การวินิจฉัยและการรักษา

การวินิจฉัย

          ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโนโรไวรัส โดยการส่งตัวอย่างอุจจาระไปยังห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาเชื้อโนโรไวรัส

การรักษา

อาการไม่รุนแรง

  • ดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
  • มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ให้ยาแก้ปวดท้อง แก้อาเจียน

อาการรุนแรง

  • มีความเสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำ อาจเกิดอาการช็อก ความดันโลหิตต่ำ ให้รีบไปโรงพยาบาล

การติดต่อ

  • ทางปาก จากเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วยที่เรียกว่า Fecal -Oral Route ซึ่งมักได้รับเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง จากอาหาร เครื่องดื่ม หรือจากมือผู้ป่วย และการสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ เช่น ผ้าอ้อมเด็ก ผ้าเช็ดหน้า ช้อน แก้ว ชาม ของเล่น ราวบันได เป็นต้น
  • ละอองฝอยจากอาเจียนของผู้ป่วยที่ปนเปื้อนในอากาศ เรียกว่า Aerosol พบได้น้อยแต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้

การป้องกัน

  • ล้างมือด้วยน้ำสบู่ อย่างน้อย 15 วินาที หลังออกจากห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร เป็นการตัดวงจรชีวิตของเชื้อไวรัส ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทาน
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่มากับอาหารที่รับประทาน
  • ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก เนื่องจากเชื้อโรคจะปนเปื้อนมากับน้ำดื่มดังนั้นการดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาดจะทำให้ลดการรับเชื้อที่มากับน้ำดื่มได้
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือหยิบจับสิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ จาน ช้อน ราวบันได เป็นต้น
  • ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางเมื่อป่วย ลดการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่น
  • งดไปโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • แยกของใช้ จานชาม แก้วน้ำ ของใช้ กับผู้ป่วย

          โนโรไวรัส เป็นเชื้อโรคที่แพร่ระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและป้องกันตนเองจากเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ ดังนั้นทุกท่านควรใส่ใจในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้ำดื่มของใช้ ของเล่นเด็ก เพื่อป้องกันหรือตัดวงจรของโนโรไวรัส ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายของเด็ก ๆ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือด้วยสบู่ ช่วยป้องกันเชื้อโรคได้ วิชาการ ห่วงใย ใส่ใจ ทุกท่าน หมั่นรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ห่างไกลโรค


Reference:

  • หาหมอ.com.  (2560).  ท้องเสียจากโนโรไวรัส ( Norovirus diarrhea).  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3ETV61E
  • โรงพยาบาลเพชรเวช.  (2565).  ป้องกันโนโรไวรัส โรคระบาดในเด็กที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี.  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3SNwGN3
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ.  (2566).  โนโรไวรัส (Norovirus) ตัวการท้องเสียระบาดในเจ้าตัวเล็ก.  สืบค้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566, จาก https://bit.ly/3ZAAVOr








วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general