ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักกับโรคหัวใจ เรามาทำความรู้จักกับ “หัวใจ” ดวงน้อย ๆ ของเราก่อน ว่าหัวใจที่อยู่ในร่างกายมนุษย์เรานั้น มีลักษณะอย่างไรบ้าง? โดยหัวใจของเราจะวางตัวอยู่ในช่องอกและเยื้องไปทางซ้ายเล็กน้อย ในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพสมบูรณ์ หัวใจจะมีน้ำหนักประมาณ 250 – 350 กรัม และมีขนาดประมาณสามในสี่ของกำปั้น แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคหัวใจโต (Cardiac Hypertrophy) น้ำหนักของหัวใจอาจมากถึง1,000 กรัม และหัวใจคนเรานั้นมี 4 ห้อง คือ 2 ห้องบน และอีก 2 ห้องล่าง ถือได้ว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ หัวใจเป็นอวัยวะที่ทำงานหนักมากที่สุดในร่างกาย และหัวใจไม่เคยมีเวลาหยุดพักเลย เพราะเมื่อไหร่ที่หัวใจหยุดพักหรือหยุดเต้น นั่นหมายถึงเราได้เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง
แม้ว่าโรคหัวใจจะสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับคนรวย, คนจน, เด็ก หรือผู้ใหญ่ นั่นหมายความว่าทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ปัจจุบันโรคนี้ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับสองรองมาจากโรคมะเร็งอีกด้วย โดย 5 โรคหัวใจที่ทำให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ความตาย ได้แก่ โรคลิ้นหัวใจพิการ, โรคหัวใจล้มเหลว, โรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะหัวใจวาย แต่ในบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับ “โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย” ซึ่งในปัจจุบันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย กลายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของประชากรในประเทศโลกตะวันตก โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 1.2 ล้านคนต่อปี และสำหรับในประเทศไทยนั้น อัตราการเกิดโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบมากขึ้นในคนที่อายุน้อย (ช่วงอายุเพียง 30 – 40 ปี) แล้วยังคงเป็นโรคที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเร็วที่สุดและเฉียบพลัน อีกทั้งยังเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก จนได้รับฉายาว่าเป็น “โรคของคนรวย” นั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย เกิดจากการตีบตัน, อุดตัน หรือการแตกของก้อนไขมันของหลอดเลือดโคโรนารี (หลอดเลือดแดง) ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ อันเนื่องมาจากผนังหลอดเลือดแข็ง มีไขมันเกาะ (Atherosclerosis) เกิดการจับตัวกันของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวเร็วขึ้นเกิดขึ้นได้จากการมีไขมันในเส้นเลือดสูง, ความอ้วน, สูบบุหรี่, ขาดการออกกำลังกาย, กรรมพันธุ์, โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานร่วมด้วย อีกทั้งความเสื่อมของร่างกายตามวัยก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งเช่นกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าตอนนี้เราเข้าใกล้ “โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย” หรือยัง? เรามาทำความรู้จักกับ 7 สัญญาณที่จะบ่งบอกถึงอันตรายที่เราต้องรีบไปพบแพทย์ ดังนี้
7 สัญญาณอันตราย ของโรคหัวใจ
- มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก
- รู้สึกเหมือนมีอะไรมากดทับหน้าอกตลอดเวลา
- มีอาการอึดอัด
- มีอาการหายใจไม่ออก
- มีอาการเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย หรืออาจจะเจ็บร้าวมาที่คอ ขากรรไกร หลัง หรือแขนขวา
- มีอาการจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่
- อาการมักจะรุนแรงและเป็นนานกว่า 30 นาทีขึ้นไป
นี้คืออาการหลัก ๆ สำคัญ ๆ ที่ทำให้เราสามารถสังเกตตัวเราเองได้ และหากมีอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง
References:
– นภาลัย โกมลวาสี. (2554). โรคของหัวใจ. กรุงเทพฯ: พิมพ์ดีการพิมพ์.
– ปีนัชนี ชาติบุรุษ. (2548). อยู่กับโรคหัวใจ. กรุงเทพฯ: แม่โพสพ.
– ไทยกู๊ดวิว. (2554). โครงสร้างของหัวใจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565, จาก http://www.thaigoodview.com/node/102354