เป็นโรคไต จำเป็นต้องฟอกไตไหม?

          ต้องยอมรับเลยว่าปัญหาโรคไต เป็นปัญหาสำคัญระดับต้น ๆ ของคนไทย เพราะอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าผู้ป่วยที่ทำการฟอกไตในปัจจุบันมีจำนวนไม่ถึงแสนคน แต่ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะพบผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยอายุน้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจัยที่ทำให้มีการป่วยเป็นโรคนี้ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และการซื้อยามารับประทานเอง เช่น ยาแก้ปวดและยาสมุนไพรต่าง ๆ

          คงจะดีไม่น้อยถ้าอาการป่วยเป็นโรคไตของเราไม่รุนแรง และไม่ต้องฟอกไต เพราะการฟอกไตด้วยเครื่องทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะไม่ต้องฟอกไต ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกับอาการของโรคไตก่อน

อาการของโรคไต

          เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย แต่อาการจะคงอยู่ในระยะท้าย ๆ ที่ไตได้รับความเสียหายแล้ว จนถึงระดับสูงสุดอาจเกิดอาการไตวาย และเสียชีวิตได้ อาการคือ

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • ปัสสาวะผิดปกติ เช่น มีกลิ่นผิดปกติ มีสีผิดปกติ เป็นต้น
  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการเบื่ออาหาร
  • ตัวบวม หรือเท้าบวมเนื่องจากมีน้ำและเกลือในร่างกายปริมาณมาก หรือความสมดุลระหว่างน้ำและเกลือแร่ในร่างกายเสียไป ข้อสังเกตคือบวมจนกดแล้วเนื้อบุ๋ม หรืออาจจะบวมที่หนังตา
  • น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • อาจจะมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น หมดสติ เป็นลม
  • ปวดหลัง ปวดบั้นเอว
  • ถ้าไตเสื่อมจนถึงการผลิตฮอร์โมนแย่ลง อาจเกิดภาวะซีด

โรคไตวายจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  1. โรคไตวายเฉียบพลัน ยังมีโอกาสที่ไตจะสามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้
  2. โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งมีสาเหตุมาจาก โรคเบาหวาน, ความดัน หรือเกิดจากโรคไตวายเฉียบพลัน แต่ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ แบ่งออกเป็น 5 ระยะ คือ
    • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 1: ไตยังทำงานปกติ แต่ตรวจพบความปกติของไต เช่น พบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือ พบเม็ดเลือดขาวเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ อาจเรียกได้ว่า “ไตเริ่มผิดปกติ”
    • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 2: ไตทำงานเหลือ 60-90% หรือไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น
    • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3: ไตทำงานเหลือ 30-60% หรือไตเรื้อรังระยะปานกลาง
    • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4: ไตทำงานเหลือ 15-30% หรือไตเรื้อรังรุนแรง
    • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5: ไตทำงานเหลือน้อยกว่า 15% หรือไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

วิธีการรักษาและปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคไต

การดูแลรักษาโรคไตเรื้อรังจะต้องรักษาตามระยะของโรคไต ดังนี้

  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 1: ต้องงดสูบบุหรี่ รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรัง นั้นก็คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 2: ต้องจำกัดความเค็ม เราสามารถควบคุมความเค็มได้ด้วยตัวเราเองหรือปรึกษาแพทย์ได้
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3: จำกัดอาหารโปรตีน ซึ่งอาจจะต้องมีการพูดคุยกับนักโภชนาการอาหารอีกด้วย
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4: จำกัดการกินผลไม้ ซึ่งอาจจะต้องมีการพูดคุยกับนักโภชนาการอาหารอีกเช่นกัน
  • โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5: ต้องรักษาโดยการล้างไตหน้าท้อง ฟอกเลือด หรือผ่าตัดปลูกไต ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย


          ความจริงแล้วคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคไต ในระยะที่ 1 – 4 ไม่จำเป็นต้องฟอกไต สามารถใช้วิธีจำกัด และควบคุมอาหารได้ และควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการร่วมด้วย อีกทั้งการดูแลตัวเองด้วยการจำกัดอาหารเพื่อลดการทำงานของไต ยังช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ “รักไต อย่าลืมลดเค็ม” กันนะคะ

 


References:

  • Vibhavadi.  (2565).  โรคไตเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน ภาวะโรคไตเรื้อรัง.  สืบค้นเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3yqNHof
  • Vichaivej.  (2565).  อาการโรคไต มีอะไรบ้าง?.  สืบค้นเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3L2ckKQ
  • สุรเมธ อิสรานุวัฒน์ชัย.  (2565).  รู้จัก “ระยะ” ของโรคไต.  สืบค้นเมื่อวันที่ 08 พฤษภาคม 2565, จาก https://bit.ly/3P5VP3C


วิชาการ
Logo
Enable registration in settings - general