จากสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบัน พบผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติที่หลงเหลืออยู่หลังจากการติดเชื้อโควิด 19 แม้ว่าจะรักษาหายจากโรคแล้วก็ตาม หรือเรียกว่า ภาวะ Long COVID หรือ Post COVID-Syndrome (อ้างอิงจากคำนิยามขององค์การอนามัยโลก ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564)
ภาวะ Long COVID สามารถเกิดขึ้นได้หลายระบบในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ, ระบบประสาท, ทางเดินอาหาร เป็นต้น โดยส่วนมากพบตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ อาการอาจจะแสดงตั้งแต่ช่วงที่ติดเชื้อและต่อเนื่อง แบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาจกินเวลานานต่อเนื่องกว่า 2 เดือน
จากผลสำรวจของกรมการแพทย์ อาการที่มักพบบ่อยมีดังนี้
- ระบบทางเดินหายใจ: หอบเหนื่อย, ไอเรื้อรัง
- ระบบประสาท: แขนขาอ่อนแรง, ปวดศีรษะ, หลงลืม
- ระบบทางจิตใจ: นอนไม่หลับ, วิตกกังวล, ซึมเศร้า
- ระบบผิวหนัง: ผมร่วง, ผื่นแพ้
- ระบบทั่วไป: อ่อนเพลีย, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, ปวดตามข้อ
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด: เจ็บหน้าอก, ใจสั่น
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Long COVID
ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีสมมุติฐานที่กล่าวถึงซากหรือส่วนของสารพันธุกรรมหรือแอนติเจนเชื้อไวรัส (Fragment of genome or viral antigen) ที่อาจตกค้างในร่างกาย ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ทำให้เกิดภาวะอักเสบในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย มักพบภาวะนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย, ผู้สูงอายุ, มีโรคประจำตัว, ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก, มีประวัติโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า, มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง
ประเภทของ ภาวะ Long COVID
สามารถแบ่งประเภทภาวะ Long COVID (อ้างอิงจากลักษณะอาการ) ได้ 3 ประเภทดังนี้
- ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมยังไม่หายขาด (New or On-Going Symptoms)
มักพบในผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงมากตั้งแต่ต้น - การผิดปกติในหลายอวัยวะ (Multiorgan Effects) ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในหลายอวัยวะเกี่ยวเนื่องกัน เช่น
- Cytokine Storm: ร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการหลั่งสารในกลุ่ม Cytokine ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะ เช่น หัวใจ, สมอง, ไต, ปอด และผิวหนังถูกทำลาย
- Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C): คือกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ ที่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบในเด็กภายหลังติดเชื้อโควิด 19 โดยส่งผลให้เกิดอาการของโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ได้แก่ ไข้, ผื่น, ตาแดง, ต่อมน้ำเหลืองโต ส่งผลกระทบต่อหลายอวัยวะ (Multiorgan Effect) อาจอันตรายถึงชีวิต (อัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 3) สามารถรักษาด้วยการให้ Immunoglobulin และ Steroid โดยพบภาวะดังกล่าวนี้ประมาณร้อยละ 25-45 ของเด็กที่ติดเชื้อ
- ความผิดปกติด้านจิตใจ
- ในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะ ICU ในระยะเวลานาน อาจมีอาการเหนื่อยล้า ไม่ค่อยมีแรง ส่งผลกระทบต่อความคิด การสื่อสาร นำไปสู่ภาวะอาการผิดปกติทางจิตใจหลังเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD) ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลัน
- ผู้ป่วยอาจมีภาวะซึมเศร้า รู้สึกโดดเดี่ยว จากการสูญเสียคนในครอบครัว หรือคนใกล้ที่ชิดติดเชื้อ
- ผลกระทบจากด้านเศรษฐกิจ สินค้าราคาแพงจากขาดวัตถุดิบ/การขนส่ง ผู้ป่วยเอง หรือผู้ใกล้ชิดอาจตกงาน ไม่มีรายได้ ส่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เกิดภาวะความเครียด, วิตกกังวล, ซึมเศร้าได้เช่นกัน
วิธีป้องกันภาวะ Long COVID
- ดูแลรักษาร่างกายตนเองให้กลับมาแข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นดูแลสุขภาพจิตใจตัวเอง ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
- ป้องกันตัวเองจากการกลับมาติดเชื้อโควิด 19 ได้แก่ ฉีดวัคซีนป้องกัน, สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่บ่อย ๆ, รักษาระยะห่าง 1.5-2 เมตร, เลี่ยงบริเวณแออัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- หากพบว่าภาวะ Long COVID กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์ เพื่อขอรับคำปรึกษา
ภาวะ Long COVID-19 จะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากเรารู้จักวิธีป้องกันและดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี และอย่าลืมไปฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการรุนแรงของโรคด้วยนะคะ
Reference:
- รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด. (2564). ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3MsqTbL
- กรมการแพทย์. (2564). การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3wUa1nI
- กรมการแพทย์. (2565). อาการหลงเหลือหลังจากหายป่วยโควิด 19 หรือเรียกว่า ภาวะ LONG COVID. สืบค้นเมื่อวันที่ 21เมษายน 2565, จาก https://bit.ly/3sISFsO