เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการปวดศีรษะจากภาวะเครียดมาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวทำงานออฟฟิศ ที่มักจะนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ หรือคนที่มักจะหมกมุ่นอยู่กับปัญหาหลาย ๆ อย่าง จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากความเครียด บางครั้งความเครียดก็ส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น อาจจะทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ในคนที่มีโรคประจำตัว หรืออาจจะแค่ปวดเบา ๆ กินยาแป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย บางรายก็หายเอง บางรายสะสมจนกลายเป็นโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาภาวะเครียดในโรงพยาบาล ดังนั้นก่อนที่จะสายเกินแก้ เรามารู้จักวิธีดูแลตัวเองไม่ให้เกิดจากความเครียดกันดีกว่า
ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อคลายเครียด
การเลือกสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายและน่าอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันและลดความเครียดได้ เช่น
- ผ่อนคลายความตึงเครียดหรือเหนื่อยล้า ด้วยการพักสายตา พักผ่อนร่างกายและจิตใจด้วยการดื่มน้ำเย็น ๆ สักแก้ว ลุกออกไปสูดอากาศข้างนอก หรือหากาแฟที่ชอบดื่ม สามารถลดความเครียดได้
- เปลี่ยนอิริยาบถจากที่ทำงานที่ทำอยู่ แล้วไปทำกิจกรรมอย่างอื่นเพื่อเป็นการพักสมอง เช่น ปลูกต้นไม้, นวดผ่อนคลาย, อ่านหนังสือ, ฟังพอดแคสต์สบาย ๆ เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง
- พักผ่อนหรือนอนหลับสักเล็กน้อย การสังสรรค์กับเพื่อนฝูงญาติมิตร หรือจิบเครื่องดื่มร้อนสักแก้ว ก็ช่วยให้ผ่อนคลายหลับสนิท จนลืมอาการเลยก็มี
- พยายามหลีกเลี่ยงน้ำหอม เนื่องจากมีสารเคมีผสมอยู่ หาดสูดดมมาก ๆ จะไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ควรใช้กลิ่นธรรมชาติบำบัดแทนจะดีกว่า เช่น เปลือกส้ม เปลือกมะกรูด
- องค์ประกอบต่าง ๆ ภายในห้อง เช่น เลือกใช้สีอ่อน ๆ สร้างบรรยากาศธรรมชาติด้วยต้นไม้ หรือภาพวาดรวมถึงการจัดห้องให้รู้สึกโปร่งสบายไม่อุดอู้ ไม่ร้อนมากเกินไป ก็ช่วยได้ไม่น้อย
วิธีบําบัดความเครียด
หากมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อาการปวดศีรษะ การบำบัดรักษาก็มีหลายแบบ แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลา สามารถนำหลักการแพทย์แผนไทยเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ที่บ้านหรือที่ทำงานได้
- ยาหอม นอกจากยาหอมจะมีสรรพคุณบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ด้วย โดยการสูดดมโดยตรงหรือจะชงกับน้ำร้อนดื่ม นอกจากจะได้ตัวยาแล้ว ยังได้สูดดมกลิ่นหอมของยาที่ระเหยขึ้นมาด้วย เป็นการช่วยบำบัดได้อีกทางหนึ่ง
- กลิ่นบำบัด เลือกกลิ่นที่ทำให้รู้สึกสบายเพราะกลิ่นต่าง ๆ จากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นกลิ่นส้ม, กลิ่นลาเวนเดอร์ หรือน้ำมันหอมระเหยของไทย ใช้ได้ผลดีและปลอดภัยที่สุด
- ออกกำลังกายและรับอากาศบริสุทธิ์ให้เพียงพอ ช่วยลดโอกาสเกิดอาการปวดศีรษะได้ เพราะช่วยกระตุ้นให้ระบบไหลเวียนของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบศีรษะได้
- นวดประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นบริเวณขมับ, ท้ายทอย และต้นคอ จะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้เช่นกัน
อาการปวดศีรษะที่ต้องไปพบแพทย์
- ปวดศีรษะรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- ถ้าเคยเป็นมาก่อน แต่อาการปวดศีรษะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น ปวดถี่และแรงขึ้น
- ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะพักผ่อนหรือรักษาตัวเองแล้ว แต่อาการไม่ทุเลาลง
- มีอาการตาพร่ามัว เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและเป็นอยู่ไม่หาย
- มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มองเห็นภาพซ้อนหรือการมองเห็นภาพค่อย ๆ มืดลง, คลื่นไส้, อาเจียน, ชัก, ไข้สูง, ซึมไม่รู้สึกตัว, เป็นอัมพาต, แขนขาอ่อนแรงและชา, เดินเซ ต้องไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการอักเสบ, บวม, กดเจ็บ บริเวณศีรษะใบหน้าหรือต้นคอ
อาการปวดศีรษะเกิดได้หลายสาเหตุ ดังนั้นหากมีอาการผิดสังเกตดังกล่าว อย่าชะล่าใจ ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจและหาสาเหตุของอาการ เพื่อจะได้ป้องกันและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
References:
- ศรีสุภา ส่งแสงขจร. (2552). รักษาก่อนหาหมอ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์.
- Paolohospital. (2564). 5 วิธีจัดการความเครียดง่าย ๆ ที่คุณเองก็ทำได้. สืบค้นเมื่อวันที่ 07 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3mkho3h
- ศรีจันทร์ พรจิราศิลป์. (2554). ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด. สืบค้นเมื่อวันที่ 07 มิถุนายน 2565, จาก https://bit.ly/3tjOsfq